เขย่าเก้าอี้ ประยุทธ์ ดัน ประวิตร ขัดตาทัพ
เสียง “นายกรัฐมนตรีสำรอง” ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง
ที่มา-ที่ไปของ “จุดเริ่มต้น” มาจากการให้สัมภาษณ์ของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงเรื่องการเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ได้ไปต่อ”
เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินแปดปีไม่ได้” ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจึงถูกนำไปสู่การเตรียมการเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ “ตีความ” ซึ่งสามารถออกได้ 3 แนวทาง
แนวทางที่ 1 เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ดังนั้น จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2565
แนวทางที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568
แนวทางที่ 3 เริ่มนับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2570
ขบวนการ “เขย่าเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการเขี่ยพล.อ.ประยุทธ์ให้รวดเร็วกว่านั้น โดยใช้เวทีอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นที่มาของ “นายกรัฐมนตรีคนนอก”
เริ่มต้นจาก ข้อเสนอ 4 ข้อ ของ “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ซึ่ง 3 ข้อ ใน 4 ข้อนั้น คือ บันไดที่จะนำไปสู่การ “เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี” จากพล.อ.ประยุทธ์ เป็น พล.อ.ประวิตร โดย “สภาที่ 3”
ข้อเสนอข้อที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ หมดสภาพความเป็นผู้นำประเทศไปแล้ว เพราะอยู่ในอำนาจมา 8 ปี มีแต่ทำให้ประเทศถอยหลังแทบทุกด้าน เศรษฐกิจพังพินาศ ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีปัญญาแก้ไข โควิด-19 ไม่มีวันจบ สร้างความแตกแยกในสังคมร้าวลึก พรรคร่วมรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพ กองหนุนหดหาย สุดท้ายจะเหลือเพียง พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว ไม่มีใครอยากคบด้วย
ข้อเสนอข้อที่ 2 พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ของพี่น้อง 3 ป. ผู้ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รับทราบดีว่าพล.อ.ประยุทธ์ บริหารบ้านเมืองล้มเหลว หากปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป บ้านเมืองจะเกิดความเสียหายเกินเยียวยาได้ ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่มีบุคคลใดที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ มีแต่พล.อ.ประวิตร เท่านั้น ที่เป็นบุคคลมากด้วยบารมี ที่จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจได้ หากพล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมรตรีเอง พล.อ.ประยุทธ์ก็หมดกังวลใจว่าจะไม่มีใครตามเช็คบิล แต่ถ้าพล.อ.ประวิตร ไม่กล้าเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพล.อ.ประยุทธ์ ก็คงต้องร่วมรับผลกรรมที่พล.อ.ประยุทธิทำไว้กับบ้านเมืองทุกประการ
ข้อเสนอข้อที่ 3 การที่พรรคการเมืองใดต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแกนนำสภาที่ 3 ย่อมสามารถทำได้ เช่น พรรคเศรษฐกิจไทย โดยหากคำแนะนำนั้นเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน ซึ่งแนวทางของสภาที่ 3 ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองกับคนในชาติ โดยมีรัฐบาลช่วยชาติซึ่งนำบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นประชาธิปไตย ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชน หากพรรคเศรษฐกิจไทยร่วมผลักดันให้เกิดแนวทางนี้ได้ ก็จะเกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง
ทันใดนั้น พรรคเศรษฐกิจไทย ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค และ บิ๊กน้อย-พล.อ.วิชชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค ประสานเสียง-รับลูก
“ผู้กองธรรมนัส” ระบุว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง “เปิดช่อง” ให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
“มือที่มองไม่เห็นมันเยอะ สภายังไม่เปิดยังไม่รู้ เดี๋ยวสภาเปิดก็จะรู้ ตอนนี้ทุกคนต่างซ่อนมีดไว้ข้างหลังตัวเองหมด”
ขณะที่ “บิ๊กน้อย” ไม่กั๊กชูพล.อ.ประวิตร เป็น “นายกรัฐมนตรีสำรอง-นายกรัฐมนตรีคนนอก”
“ผมมองแค่ พล.อ.ประวิตร เพราะท่านมีความเหมาะสม สามารถช่วยประเทศได้ในเวลานี้”
ไม่น่าแปลกใจ เพราะ “บิ๊กน้อย” นอกจากจะเป็น “เพื่อนรัก” พล.อ.ประวิตรแล้ว ยังเคยมีเรื่อง “ผิดใจ” กับพล.อ.ประยุทธ์ หลังจากอกหักจากเก้าอี้ ผู้บัญชาการทหารบก
หากกางรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตราที่เกี่ยวข้อกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ถ้าเกิดอุบัติทางการเมืองในสภา กรณีสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรคสี่
รัฐธรรมนูญมาตรา 159 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งออกเป็น “นายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง” และ “นายกรัฐมนตรีคนนอก”
นายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง ประกอบด้วย มาตรา 88 ที่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาอย่างน้อยร้อยละ 5 หรือ ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป และยังมีคุณสมบัติได้รับการเสนอชื่อขณะนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.มากกว่ากึ่งหนึ่ง
ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ คือ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคเพื่อไทย ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่าระหว่าง 5 ปีแรก การเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
โดยให้มีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน (ส.ส.500 คน ส.ว.250 คน รวม 750 คน)
ขณะที่ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง “เปิดช่อง” กรณีไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองได้ สามารถใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่าสองในสาม “ขอยกเว้น” ได้
ดังนั้น ชื่อของ “พล.อ.ประวิตร” จึงถูกชูขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ”
“พล.อ.ประวิตร” จึงกลายเป็นคนที่ “ตกที่นั่งลำบาก” เพราะมองหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ติด ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ถูกเสี้ยมให้ “แตกคอ” กันหลายครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น กรณีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ที่ไม่ปล่อยให้พรรคพลังประชารัฐในการใช้เป็นเครื่องมือในการเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งหน้า และเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยึดจากพล.อ.ประวิตรไป
จนพี่-น้อง 3 ป.ต้องออกมาจัดฉาก-สร้างภาพโอบกอดกัน เพื่อ “สยบรอยร้าว” ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงร่วมโต๊ะกินข้าว เมนู “กุ้งผัดกระเทียม” ฝีมือ “เชฟป้อม” ในมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อลบภาพเกาเหลาชามโต
ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และตราบใดที่พล.อ.ประยุทธ์ยังมี ร.อ.ธรรมนัสเป็น “หอกข้างแคร่” เสียง “นายกรัฐมนตรีสำรอง” คงดังไม่จบไม่สิ้น