‘แรงงานไทย’เจอปัญหาอะไรในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เป็นวันที่ทุกฝ่ายจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานในสาขาอาชีพต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในการ ใช้ความรู้ ความสามารถ หยาดเหงื่อแรงงานไปแลกเป็นรายได้เพื่อดำรงชีวิต เลี้ยงครอบครัว รวมทั้งเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมช่วยสร้างสังคม เศรษฐกิจ ประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง
ในปี 2565 เสียงเรียกร้องของแรงงานดังขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะในประเด็นการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากราคาสินค้าต่างๆปรับขึ้นราคาอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ราคาอาหารสดหมู ไข่ ที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่เริ่มขยับปรับราคาลิตรละ 2 บาท เป็น 32 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ก่อนจะปรับขึ้นทุกสัปดาห์จนถึงเพดาน 35 บาทต่อลิตรหากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ปรับลดลง ซึ่งแน่นอนว่าราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนค่าสินค้ารวมทั้งค่าขนส่งจนทำให้สินค้าราคาปรับขึ้น แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าก็คงไม่เป็นผลมากนัก
ยังไม่เคาะปรับค่าแรง 492 บาท
ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยมีข้อเสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานเป็น 492 บาทต่อวัน โดยข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลได้รับไปเพื่อศึกษาความเหมาะสม โดยรัฐมนตรีว่าการะทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น บอกว่าค่าแรงขั้นต่ำคงจะมีการปรับขึ้นตามความเหมาะสมแต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ โดยยังมีกรอบระยะเวลาในการศึกษาโครงสร้างราคาค่าแรงที่เหมาะสมและหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน หากปรับขึ้นจริงคงเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
ทั้งนี้หากดูข้อมูลย้อนหลังเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศไทย ครั้งล่าสุดที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ไปอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน คือในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 ซึ่งได้มีการหาเสียงในนโยบายนี้ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2554 ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลก็มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดที่ค่าครองชีพสูง โดยจังหวัดที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาทต่อวันได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
ต่อมาในปี 2561 รัฐบาลได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งให้สะท้อนกับค่าครองชีพในจังหวัดต่างๆ โดยปรับเป็น 308-330 บาทต่อวัน โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 330 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน ในปี 2562 มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งเป็น 313 – 336 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 336 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
แรงงานไทย 70% มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 18 – 24 เม.ย.2565 โดยเป็นการสำรวจแรงงานทั่วประเทศ พบว่าในกลุ่มของแรงงานที่มีรายได้น้อย (เฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน) เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายและมีหนี้ครัวเรือนสูง โดยจากผลสำรวจพบว่ามีแรงงานที่มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย 70.1% ส่วนที่ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายมีเพียง 29.9% โดยแรงงานไทยที่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีสาเหตุมาจาก ภาระหนี้มากขึ้น 31.2% อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 22.1% มีของที่ต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้น 19.6% รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาของเพิ่มขึ้น 11.8% รายได้ลดลง 9% และราคาสินค้าแพงขึ้น 5.6%
จากผลสำรวจยังพบว่าเมื่อมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแรงงานไทยมีการแก้ปัญหาอย่างไร ผลสำรวจพบว่าแรงงานกว่า 39.3% หาแหล่งกู้ยืมในระบบ 17.6% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 15.8% แก้ปัญหาโดยการนำเอาเงินออมออกมาใช้ 13.3% กู้ยืมเงินนอกระบบ 10.9% ขายหรือจำนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ และอีก 3.2% หาอาชีพเสริมทำเพิ่ม
แรงงานไทยใช้เงินจ่ายหนี้กว่า 17%
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรายเดือนของแรงงานไทยในปัจจุบันพบว่ามีรายการค่าใช้จ่ายตามลำดับ ดังนี้ 1.ภาระการผ่อนหนี้สิน (รวมผ่อนสินค้า/ยานพาหนะ) คิดเป็นสัดส่วน 17.4%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 16.3%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3.ค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน (รวมถึงการจ่ายค่าเล่าเรียน) 12.7 %ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
4.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้ในบ้าน 11.2%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 5.ค่าโทรศัพท์ 9.3 %ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆได้แก่ ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ยารักษาโรค และค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ การเสี่ยงโชค และการลงทุน
99% ของแรงงานไทยมีหนี้ครัวเรือน
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่าครัวเรือนของแรงงานไทยในปัจจุบันมีหนี้สินถึง 99% โดยจำนวนนี้เพิ่มขึ้นมาตามลำดับตั้งแต่ปี 2562 –2565 จาก 95% มาเป็น 99% ในปีล่าสุด โดยสัดส่วนของการกู้ยืมแบ่งเป็นหนี้ในระบบ 68.9% และหนี้นอกระบบ 31.1% แรงงานมีภาระต้องชำระหนี้สินต่อเดือนตั้งแต่ 3,700 บาท ถึง 7,900 บาทต่อเดือน โดยอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเงินนอกระบบสูงถึง 12.57% ต่อเดือน ส่วนหนี้ในระบบมีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.68% ต่อปี โดยหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนของแรงงานไทยในปีล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาทต่อครัวเรือน โดยหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่อยู่ที่205,809.81 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.9% จากปีก่อน และกว่า 31.5% ของแรงงานที่ตอบผลสำรวจระบุว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเคยมีการผิดนัดชำระหนี้ โดย 20.2% ยอมรับว่าผ่อนหนี้ไม่ไหวเนื่องจากภาระหนี้เยอะเกินไป
ขณะเดียวกันภาระหนี้สินในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคของแรงงาน โดย46.4% ของแรงงานที่ตอบผลสำรวจระบุว่าการใช้จ่ายในปัจจุบันลดลง ส่วนอีก 48.3% ระบุว่าการใช้จ่ายใน 3 เดือนข้างหน้าจะลดลงเนื่องจากมีภาระหนี้สินที่ยังมีอยู่
67% ของแรงงานไทยไม่มีเงินออม
ผลสำรวจของม.หอการค้าไทย ยังพบว่าแรงงานไทย 67.7% ไม่มีเงินออม ส่วนแรงงาน 32.3% เป็นแรงงานที่มีเงินออม โดยเงินออมของแรงงานในปี 2565 จำนวนเงินออมต่อเดือนลดลงจากปี 2564 โดยในปี 2564 แรงงานมีการออมเงินเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 896.93 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ในปี 2565 แรงงานที่มีการออมเงินออมเงินลดลงเหลือ 601.5 บาทต่อคนต่อเดือน โดยส่วนใหญ่มีการออมเงินอยู่ที่ระดับ 500 – 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน
จากจำนวนเงินออมที่น้อยของแรงงานไทยทำให้แรงงานส่วนใหญ่ถึง 76.7% ให้ข้อมูลว่าจากเงินออมที่มีอยู่จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่เกิน 3 เดือน ส่วนอีก 17.3% จะดำเนินชีวิตได้ 4 – 6 เดือน และที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 10-12 เดือน นั้นมีเพียง 3% ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น
โดยแรงงานที่มีความเสี่ยงที่อาจจะตกงานส่วนใหญ่ 58.4% จะใช้วิธีเร่งหางานใหม่รองรับก่อนที่จะถูกให้ออกจากงานเดิม อีก 14% จะนำเงินออมออกมาใช้ 13.7% จะใช้เงินเยียวยาของรัฐในการดำรงชีวิต อีก 7.3% จะกลับไปทำการเกษตรที่ต่างจังหวัด อีก 4.1% ของแรงงานเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐในการหางานทำ และอีก 2.5% จะกลับภูมิลำเนา
แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลดูแลค่าครองชีพ
นอกจากนี้ในผลการสำรวจความคิดเห็นของแรงงานของ ม.หอการค้าฯยังระบุด้วยว่า ประเด็นที่แรงงานต้องการให้รัฐบาลดูแลแรงงานไทยในปี 2565 ในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1.ดูแลเรื่องค่าครองชีพ (ราคาสินค้า) โดยมีแรงงานกว่า 48.8% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด
2.การดูแลเรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แรงงาน 45.8% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด
3.การแก้ปัญหาเรื่องการว่างงาน โดย 44% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด
4.การดูแลเรื่องของหนี้ของแรงงาน โดย 42.4% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุดและ 5.การดูแลเรื่องเงินช่วยเหลือแรงงาน โดยมี 34.4% ที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด
ส่วนประเด็นอื่นๆที่แรงงานมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลแรงงานคือ ดูแลเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าว ดูแลเรื่องการรับบริการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ดูแลเรื่องการฝึกฝีมือแรงงาน และดูแลการใช้แรงงานมากเกินขอบเขต