ศึกผู้ว่าฯกทม. ชิง โหวตเตอร์คนชั้นกลาง
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เดินทางมาถึงช่วง 30 วันสุดท้าย ก่อน คนกทม. จะต้องตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการลิขิตอนาคตของตัวเอง-ลูกหลาน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565
แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.ในสปอตไลต์ ต่างประชันนโยบาย-โชว์กึ๋น เพื่อ “กุมหัวใจ” โหวตเตอร์-ฐานเสียงให้อยู่หมัด สำคัญที่สุด คือ การชนะใจ “คนตรงกลาง” ที่ยังลังเล-ไม่ตัดสินใจ และสำคัญยิ่งกว่า คือ การ “พิชิตใจ” แฟนคลับของคู่แข่ง
1 ในนโยบายที่ “แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.” ใช้ในการ “ซื้อใจ” ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะ มนุษย์เงินเดือน-พนักงานออฟฟิศ ดุเดือดถึงขั้นจัดโปรโมชั่นไฟลุก จนก่ำกึ่ง “โฆษณาชวนเชื่อ” คือ “นโยบายรถไฟฟ้า” ทั้งบนดินและใต้ดิน
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เบอร์ 8 บรรจุนโยบาย “เส้นเลือดใหญ่” โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ไว้ใน “200 นโยบาย” ในหมวด “เดินทางดี” และ “บริหารจัดการดี”
อาทิ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายราคาถูก 30 บาทตลอดสาย โอนรถไฟฟ้าให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแล เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของ กทม.และกรุงเทพธนาคม รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมกับเอกชน
แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.อีก 1 คน ที่ปักธงนโยบายรถไฟฟ้า คือ “วิโรจน์ ลักษขณาอดิศร” ผู้ว่าสมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 1 เป็น 1 ในนโยบาย 12 ด้าน โดยเฉพาะคัดค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และผลักดัน “ตั๋วร่วม” 15-45 บาทตลอดสาย
สำหรับนโยบายด้านที่ 5 ได้แก่ ลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว สร้าง “ตั๋วคนเมือง” ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ใน กทม. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย
“วิโรจน์” เจาะกลุ่มเป้าหมาย-กระชากใจ “ฮาร์ดคอร์” ที่มี “ข้อกังขา” สัญญาการเจรจจา-เงื่อนไขสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งเอาไว้มีเส้นสนกลใน-เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน-ท่อน้ำเลี้ยงฝ่ายการเมืองหรือไม่ โดยเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาสัมปทาน
ด้าน “รสนา โตสิตระกูล” ผู้สมัครฯ ผู้ว่ากทม.เบอร์ 7 ขอลุยไฟ เปิดแคมเปญ “ไม่ต่อสัมปทาน BTS” โดยปล่อยให้ตกเป็นของกทม. และโอนไปให้กระทรวงคมนาคม โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้บริหารจัดการ ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย
นอกจากนั้นให้ทำเป็น “ตั๋วร่วม” คิดค่าโดยสารราคาเดียว-ไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และเชื่อมต่อกับระบบคมนาคมทั้งหมด ขณะที่สูตร “ราคาค่าโดยสาร” ทั้งระบบ “ล้อ-ราง-เรือ” เคาะราคาที่ 50 บาท
ส่วน “น.ต.ศิธา ทิวารี” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 11 ได้ “ประภัสร์ จงสงวน” อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยและอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยมาเป็น “พี่เลี้ยง” ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคไทยสร้างไทย จึงมี “ลูกเล่น” ในการนำเสนอนโยบายรถไฟฟ้าได้อย่างน่าสนใจ
โดยการจัดทีมแยกเป็น 3 สาย ประชันความเร็ว-ความสะดวกสบาย-ค่าโดยสาร แบ่งออกเป็น การโดยสารด้วยรถไฟฟ้า รถเมล์ และรถแท็กซี่ เส้นทางเริ่มต้นจากดอนเมืองถึงสถานีปลายทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สำหรับผลลัพธ์การเดินทางเปรียบเทียบ 3 ประเภท คือ รถไฟฟ้า ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยรถไฟฟ้ามีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 85 บาท/คน
รถแท็กซี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที มีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 170 บาท ขณะที่รถเมล์สาธารณะ ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง มีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 30 บาท/คน
“ศิธา-ประภัสร์” เตรียมเปิดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการบริการรถไฟฟ้าอีกครั้งในเร็วๆนี้
ขณะที่ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เบอร์ 4 โหนขบวนรถไฟฟ้าด้วยค่าโดยสารสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต้องไม่เกิน 20-25 บาทตลอดสาย
ฟากอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. “สกลธี ภัททิยกุล” ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. เบอร์ 3 บรรจุนโยบายรถไฟฟ้าในไว้นโยบายด้านที่ 1 “การจราจรดีกว่านี้ได้” เชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ
โดย “เสี่ยจั้ม” จะเข้าไปสานต่อโครงการรถไฟฟ้าสานสีเทา วัชพล-ทองหล่อ รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ระบบนำส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า ฟรีทั่วกรุง (Feeder) ATC (Actual Traffic Control)
ส่วน อดีตผู้ว่าฯกทม. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. เบอร์ 6 ชูสโลแกน “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” มีอยู่ในนโยบายหลัก 8 ข้อ
ข้อที่ 2 นโยบายเมืองเดินทางสะดวก สะดวกในทุกการเดินทาง คนเดินทางปลอดภัยระบบขนส่งมวลชนสะดวก เชื่อมโยงล้อ-ราง-เรือ
ที่ผ่านมา “จุดยืน” ของ “ผู้ว่าฯอัศวิน” ต่อกรณีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับบีทีเอสออกไปอีก 30 ปียังไม่ได้รับการตอบรับ
เนื่องจากระหว่างที่ “ผู้ว่าฯอัศวิน” ยังกุมบังเหียนศาลาว่าการกรุงเทพฯ กทม.ได้ตอบข้อสังเกตกระทรวงคมนาคมไปแล้วถึง 8 ครั้ง แต่ถูก “ตีกลับ” ทุกครั้ง จนคณะรัฐมนตรีไม่สามารถมีมติให้ต่อสัญญาสัมปทานฯ
22 พฤษภาคม 2565 คนกทม.มีอำนาจการตัดสินใจ “แค่วันเดียว” ในการฝากอนาคตไว้กับแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งคนใด ในการเข้ามาเป็น “พ่อเมืองเสาชิงช้า” อย่าให้ต้องมานั่งเสียใจไปอีก 4 ปี