สถานการณ์แรงงานไทย ฟื้นตัวแค่ไหน? หลังผ่อนคลาย ‘มาตรการโควิด’
สถานการณ์แรงงานในประเทศถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง โดยทั่วไปแล้วสถานการณ์แรงงานจะวัดจากตัวเลขสำคัญเช่น การมีงานทำ อัตราการว่างงาน และชั่วโมงการทำงาน
การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาเกือบ 3 ปี ในช่วงแรกของการระบาดในปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ ปิดกิจการ เลิกจ้างงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลการสำรวจอัตราการว่างงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่2.3% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานกว่า 7.5 แสนคน นับเป็นการว่างงานที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 และเมื่อรวมกับผู้ที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน หรือคงสภาพการจ้างงานแต่ไม่ได้ค่าจ้างอีกหลายล้านคน
มีการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักว่าในช่วงวิกฤติโควิดประเทศไทยในปี 2563 อาจมีแรงงานที่ว่างงานถึง 10 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ผู้ทำงานในสถานบันเทิงที่ได้ผลกระทบจากสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการไปในช่วงการระบาดถือเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เริ่มให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆกลับมาดำเนินการได้ ภาคเอกชนสามารถรับมือและวางแผนรับมือการระบาดในโรงงานและสายการผลิตได้ดีขึ้นทำให้ตัวเลขการจ้างงานของไทยดีขึ้นตามลำดับแม้จะยังไม่เท่ากับการจ้างงานในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน
ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าสถานการณ์สถานการณ์แรงงานไทยในไตรมาส 4 ปี 2564 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีการจ้างงานทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน อัตราการมีงานทำคิดเป็น 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีการจ้างงานในสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน ทั้งสิ้น 6.3 แสนคน เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้รับประโยชน์ ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ 2.27% ลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยยืนยันว่าสถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในส่วนของชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชน อยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวนทั้งสิน 4.4 แสนคน ลดลง 14.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และผู้เสมือนว่างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 3.2 ล้านคนถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของภาคแรงงานในประเทศ
ธปท.ชี้ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
สถานการณ์แรงงานในประเทศมีการฟื้นตัวมากขึ้นหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าตลาดแรงงานไทยยังมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยอัตราการว่างงานลดลงและชั่วโมงการทำงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หากแต่ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีมุมมองว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยยังมีความไม่แน่นอนหรือที่เรียกว่า “ความเปราะบาง” ทำให้การจ้างงานใหม่ยังไม่กระจายตัวไปในทุกสาขาโดยเฉพาะแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร ซึ่งรวมถึงแรงงานในภาคท่องเที่ยวจะยังคงไม่ฟื้นตัว และธปท.คาดว่าจะต้องใช้เวลาจนถึงปี 2566 กว่าการจ้างงานในส่วนนี้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ธปท.ได้มีการติดตามดูสถานการณ์แรงงานไทยภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด -19 โดยระบุว่าความเปราะบางของตลาดแรงงานไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 มาจากเหตุผล 4 ข้อที่สำคัญได้แก่
1.การท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวล่าช้า ประมาณการล่าสุดของ ธปท. ที่คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี 2565 จะอยู่ที่ 5.6 ล้านคน และจากนั้นในปี 2566 มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นในปี 2566 มาอยู่ที่ 19 ล้านคน แต่ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ตามการคาดการณ์ก็ยังคงคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนในช่วงก่อนการระบาดของโควิด -19 เท่านั้น
นอกจากนี้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยสถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยอื่นๆเช่นภาวะสงครามและความขัดแย้งในยุโรปตะวันออก รวมถึงภูมิภาคอื่นๆที่จะกระทบกับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
ทั้งนี้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ล่าช้าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับภาคบริการ และอาชีพอิสระทำให้รายได้และการจับจ่ายของคนกลุ่มนี้ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
แนวโน้มฟรีแลนซ์เพิ่มมากขึ้นกว่าพนักงานประจำ
2.การปรับตัวของผู้ประกอบการ ที่จำกัดการจ้างงานในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนของโควิด-19 ทำให้การจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยคาดว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะปรับตัวเพื่อลดต้นทุนแรงงานไปอย่างน้อยจนกว่าความไม่แน่นอนของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง โดยนายจ้างจะใช้วิธีเพิ่มชั่วโมงทำงานของลูกจ้างเดิมแทนการจ้างงานใหม่
ทั้งนี้หากต้องการจ้างงานใหม่จะใช้วิธีจ้างลูกจ้างชั่วคราวมากกว่าลูกจ้างประจำเพราะมีความยืดหยุ่น ในการจ้างงานและค่าจ้างต่ำกว่า โดยจะเห็นได้จากข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่แม้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติ แต่จำนวนลูกจ้างในภาคบริการโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ1% จาก ไตรมาสที่ 3 ปี 2564
นอกจากนั้นส่วนที่น่าสนใจคือจำนวนลูกจ้างในธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำให้สัดส่วนลูกจ้างชั่วคราวต่อลูกจ้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% จาก 16% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในภาค การผลิตยังเน้นการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อทดแทนแรงงานจึงไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก
แรงงาน 1.7 ล้านคนกลับถิ่นฐานในต่างจังหวัด
3.การปรับตัวของแรงงาน ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนตัดสินใจย้ายกลับถิ่นหรือออกนอกระบบ ทำให้รายได้ฟื้นตัวจำกัดและอยู่ใน ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด โดยปัจจุบันมีแรงงานคืนถิ่นประมาณ 1.7 ล้านคน ที่ยังไม่กลับเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ต ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอน ค่าจ้างไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ การกลับเข้าสู่ ตลาดแรงงานท่าได้ยากจากข้อจำกัดด้านอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานส่วนใหญ่ย้ายไปสู่ภาคเกษตร หรือออกจากระบบแรงงานเดิม แล้วไปทำการเกษตรและประกอบอาชีพอิสระจะมีผลิตภาพที่ลดลง อีกทั้งแรงงานที่ตกงานและไม่ได้ย้ายกลับถิ่นบางส่วนก็อาจย้ายเข้าไปทำงานในสาขาที่เป็นอาชีพอิสระด้วย สะท้อนจากจำนวนแรงงานในภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดประมาณ 4% ตามลำดับ จำนวนลูกจ้างนอกภาคเกษตรปรับลดลงประมาณ 2% ในระยะต่อไป คาดว่าแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นบางส่วนอาจกลับมาทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจหากสาขาที่เคยทำงานกลับมาฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่แรงงานอีกส่วนหนึ่ง อาจย้ายกลับถิ่นถาวร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีทุนหรือที่ดินสำหรับเริ่มต้นอาชีพใหม่ หรือทำการเกษตรในภูมิลำเนา ซึ่งทำให้รายได้ของแรงงานกลุ่มนี้จะยังคงต่ำกว่าช่วงก่อน การระบาดของ
นายจ้างหาแรงงานทดแทนแรงงานในบริษัทข้ามชาติ
และ 4.คุณสมบัติของผู้ว่างงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ข้อมูลด้านตลาดแรงงานในปี 2564 ชี้ว่านายจ้างบางกลุ่มยังต้องการจ้างงานใหม่ สะท้อนจาก อัตราตำแหน่งงานว่างที่ไม่ได้ปรับลดลง แต่ยังประกาศรับสมัครงานและมีแนวโน้มจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานข้ามชาติที่ย้ายกลับถิ่น แต่แรงงานที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ต้องการกลับหางานทำได้ยากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ว่างงานระยะยาว (หางานทำเกินกว่า 1 ปี) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 0.6 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เป็น 1.6 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564
นอกจากนี้จำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยท่างานมาก่อนสูงขึ้นอยู่ที่ 2.7 แสนคน ซึ่งในจ่านวนนี้ส่วนหนึ่งเป็น แรงงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่และส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่นายจ้าง ต้องการจ้างแรงงานที่ระดับการศึกษาไม่สูงมากนัก
จากข้อมูลที่รวบรวมมาเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในไทยหลังจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จะเห็นได้ว่าการจ้างงาน และอัตราว่างงานของแรงงานไทยหลังโควิด -19 ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีปัจจัยกดดัน หลายประการ ทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้รายได้ของผู้ประกอบอาชีพ อิสระและลูกจ้างในภาคบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าอาชีพอื่น
นอกจากนี้การปรับตัว ของนายจ้างและลูกจ้างในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาด ของโควิด-19 และปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความสามารถของแรงงานและคุณสมบัติของแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการทำ ทั้งหมดเป็นการกดดันการฟื้นตัวของการจ้างงาน และรายได้แรงงานด้วย จึงต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป