เปิดประเทศ บูทท่องเที่ยว ดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว?
“การท่องเที่ยว” ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเคยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูงถึง 2 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึงประมาณ 40 ล้านคน มีการจ้างงานแรงงานกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึงประมาณ 11 % และการจ้างงานของการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมด
ทั้งนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศไทยหดหายลงไปอย่างมาก โดยในปี 2564 ที่แม้จะมีการใช้โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกเข้ามาให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในบางพื้นที่ได้ก็มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเพียง 4.3 แสนคน และมีการใช้จ่ายเงินเพียง 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น
ผ่อนคลายมาตรการตรวจหาโควิด-19 เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2565 ทั่วโลกยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง ขณะที่ในประเทศไทยการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่นคนต่อวันจากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) ที่รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบจากในส่วนของการตรวจแบบ RT-PCR และ ATK รวมกันกว่า 5 หมื่นคน แต่เนื่องจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมักจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวสามารถมีเม็ดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
ประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการในการเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นจากเดิมที่ใช้มาตรการการตรวจหาเชื้อโควิดแบบเข้มข้นโดยตรงในรูปแบบ RT-PCR ทั้งจากประเทศต้นทาง ก่อนการเดินทาง 72 ชั่วโมง และมาตรวจหาเชื้อที่ประเทศไทยอีก 1 ครั้งเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อยืนยันว่าไม่พบเชื้อแล้วจึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆได้ นอกจากนั้นให้ส่งผลตรวจหาเชื้อแบบ ATK ในวันที่ 5 เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งวิธีการดังกล่าวภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะขอให้รัฐบาลปรับลดขั้นตอนหรือให้ยกเลิกขั้นตอนลงเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น
ที่ประชุม ศบค. 2 ครั้งหลังสุดคือในเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.ได้มีมติเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ โดยให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ให้มาตรวจที่ประเทศไทยโดยนักท่องเที่ยวต้องจองโรงแรม 1 วันเพื่อรอฟังผลตรวจหาเชื้อ หากผลตรวจเป็นลบไม่พบเชื้อจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ทันที
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำเสนอแนวทางปฏิบัติในการผ่อนคลายการเข้าประเทศไทยเพิ่มเติมให้ที่ประชุม ศคบ.พิจารณายกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR มาเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ที่สนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยสามารถเข้าประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการลดขั้นตอนการเข้าประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศในระยะต่อไป
ตั้งความหวังนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ 5 – 10 ล้านคน
การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่มีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่องและทำให้จำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเหมือนกับประตูบ้านเข้าสู่ประเทศไทย ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 65.79% ตั้งแต่การยกเลิกมาตรการ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมาส่งผลให้มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 11,623 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่มีผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศเฉลี่ยวันละ 7,003 คน หรือเพิ่มขึ้น 65.97% และมีจำนวนเที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศ เฉลี่ยวันละ 141 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 137 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 2.92%
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 5 ล้านคนเศษ และคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าสู่ประเทศไทยในจำนวนดังกล่าวจะมีการใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 4.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการในช่วงปลายปี 2564 มาจากการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วโดยไม่ต้องมีการกักตัวผ่านมาตรการ Test & Go อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อรวมกับปัจจัยที่ประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศในภูมิภาคเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ใกล้เคียงกับจำนวนที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่าในปี 2565 การเดินทางท่องเที่ยวของตลาดต่างประเทศเข้าไทยปี 2565 มีแนวโน้มดีขึ้น ด้วยมีปัจจัยสนับสนุนเรื่องการกระจายวัคซีนที่เข้าถึงประชากรโลกมากขึ้น โดยประเมินจากจำนวนและรายได้ตลาดต่างประเทศปี 2565 ตามคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดโลก คาดว่านักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าไทยปีนี้อาจมีจำนวนถึง 10 ล้านคน โดยมีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมากคือนักท่องเที่ยวจากอินเดียที่ ครม.มีการอนุมัติการทำ Travel Bubble กับอินเดียแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง โดยจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตและเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับซาอุดิอาระเบียในรอบ 30 ปี นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรป โดยนักท่องเที่ยวที่จะลดจำนวนลงตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน คือนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่ปกติเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาวมากที่สุด
ทั้งนี้หากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 10 ล้านคนในปีนี้จะทำให้รายได้ภาคท่องเที่ยวที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยอยู่ที่ 625,800 ล้านบาท
สงคราม – คว่ำบาตร – โควิด ปัจจัยฉุดการท่องเที่ยว
แม้ว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้จะเป็นเหมือนกับแสงสว่างในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยที่ซบเซามายาวนานฟื้นตัวมากขึ้น แต่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่วางไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคนในปีนี้ยังมีคำถามจากหลายฝ่ายว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวในปีนี้มากนักทั้งในเรื่องของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังไม่จบลงง่ายๆ ส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้คนเดินทางท่องเที่ยว
นอกจากนั้นในเรื่องของการคว่ำบาตรกันไปมาระหว่างขั้นอำนาจที่ต่อต้านและสนับสนุนรัสเซีย ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทำให้การออกไปเที่ยวในต่างประเทศของคนที่ไม่ได้มีฐานะสูงมากลดลงไป ส่วนสุดท้ายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคท่องเที่ยวคือเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยคือประเทศจีนที่ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายเมือง จึงเป็นไปได้ยากที่ในปีนี้จีนจะยอมให้ประชาชนเดินทางออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่กลับมาเที่ยวในไทย เราก็คงยังไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมากเหมือนกับที่เคยเห็นมาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19