เดิน’มอเตอร์โชว์’เห็นภาพสะท้อนยานยนต์ไทย ฤา’รถไฟฟ้า’ จะเบียด ‘น้ำมัน’ตกถนน ?
งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนว มอเตอร์โชว์ 2022” เป็นงานแสดงรถยนต์ใหญ่ระดับประเทศที่กลับมาจัดใหม่อีกครั้ง หลังหยุดยาวไปเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เช่นเดียวกับหลายๆงาน ดังนั้นบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนวจำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานจึงกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้รัดกุมที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 เด็ดขาดเพราะหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมา ไม่เพียงแต่จะตกเป็นจำเลยสังคมเท่านั้น แต่ยังจะส่งแรงเหวียงไปยังงานแสดงรถอื่น ๆ อีก3-4งานที่จะจัดต่อ พลอยต้องวืด! ไปด้วยอย่างแน่นอน
รูปแบบปรับใหม่ลดสัมผัส ลดความแออัดผู้ชม
รูปแบบของการจัดงานในปี 2022 จึงแตกต่างจากงานที่เคยเป็นมาในอดีต ตั้งแต่วิธีการจำหน่ายบัตรเข้างาน ที่กระตุ้นให้คนไปซื้อแบบ Online ผ่านเว็ปไซด์ และแฟนเพจของงาน เพื่อหวังลดการสัมผัสจากการมาจ่ายเงินหน้างาน ผู้จัดงานส่งเสริมแนวคิดนี้ด้วยการมอบส่วนลดถึง 50% สำหรับผู้ซื้อบัตรระบบ Online ในขั้นตอนการซื้อบัตรนั้นต้องลงทะเบียน ด้วยการกรอกข้อมูลการรับวัคซีนที่กำหนดว่าอย่างน้อยต้องรับแล้ว 2 เข็ม, ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และการตรวจ ATK ภายใน4 8 ชั่วโมงของการลงทะเบียน เมื่อเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ จะได้รับบาร์โค้ชสำหรับแสดงที่ประตูทางเข้า, พื้นที่การแสดงก็ถูกขยายความกว้างของทางเดินระหว่างบูธในงานจาก 8 เป็น 10 เมตร เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างบุคคลมากยิ่งขึ้น, กระทั่งโต๊ะ เก้าอี้ที่ใช้ในการ ทำสัญญา ซื้อ-ขาย ภายในบูธ ต่าง ๆ ต้องมีอคลีริกใสติดตั้งกั้นการฟุ้งของละอองสารคัดหลั่ง, รถยนต์ทุกคันที่ตั้งแสดง นอกจากจะขัดเคลือบให้วาววับ เตะตา เรียกความสนใจจากผู้ชมที่เดินผ่านไปมาแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีคน สัมผัส หรือทดลองนั่งและเดินจากไปแล้ว เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดต้องพ่น “ยาฆ่าเชื้อ” ทันที ก่อนจะปล่อยให้คิวต่อไปเข้าไปชื่นชมอย่างใกล้ชิดได้ต่อ
ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น ผู้จัดงานจึงหวังว่า จะทำให้ผู้ที่ชื่นชอบงานแต่กังวลกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะมั่นใจและกลับมาเดินเยี่ยมชม จับจ่าย ใช้สตางค์ ช่วยให้เศรษฐกิจของภาคยานยนต์เข้าสู่เกียร์ D เคลื่อนตัว เดินหน้าอีกครั้งหลังอยู่ที่ตำแหน่ง N มาอย่างนยาวนาน
รถพลังน้ำมันกำลังจะถูกไฟฟ้าเบียดตกถนนจริงหรือ
สิ่งที่เป็นไฮไลท์ ชวนติดตามที่สุด ของการจัดงานปีนี้คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรถยนต์ จากพลังงานน้ำมันไปสู่ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งจากความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, การเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิต, แคมเปญ-โปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย, การเกิดขึ้นของสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า, ไปจนถึงภาครัฐที่สนับสนุนมาตรการทางภาษีสรรพสามิตร (มอบส่วนลดหลักแสน) ล้วนแต่เป็นปัจจัยกระตุ้นอย่างดี ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า ถูกมองว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจจะมาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้
ในสภาวะคึกคักเหมือนฝุ่นตลบ กลบภาพแห่งความจริงอยู่หรือไม่ ในงาน “บากอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ครั้งนี้” จะเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพแห่งความเป็นจริงได้ชัดเจน เพื่อให้คุณผู้อ่าน เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ของปี พ.ศ.นี้ กับทิศทางที่กำลังจะก้าวไปได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
สภาพแวดล้อมบ่งชี้ โลกรถยนต์ กำลังเปลี่ยน
ก้าวแรกที่ผ่านประตูงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 สู่ด้านในชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2,3,4 เมืองทองธานี จะพบรูปแบบการใช้พื้นที่ ที่คุ้นตา นั่นคือ แบรนด์รถยนต์เมืองไทย จับจองพื้นที่ เพื่อนำรถยนต์รุ่นล่าสุดของตน มาตั้งจำหน่าย โดยมีพนักงานขายจากดีลเลอร์ต่าง ๆ สลับกันมาทำหน้าที่ “เชียร์แขก” หรือตอบคำถามตามที่ผู้สนใจ ซักถามในประเด็นต่าง ๆ หลอกล่อด้วยโปรโมชั่น-แคมเปญส่วนลด, ของแถม เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจให้ควักเงินจองง่ายยิ่งขึ้นอีกนิด
รูปแบบการจัดบูธที่นิยมคือ นำรถยนต์รุ่นล่าสุด ไปตั้งตระหง่านบนเวทีใหญ่ ด้านในสุด จัดพิธีกร หรือ MC ขึ้นอธิบายรายละเอียดของรถยนต์รุ่นนั้นเป็นรอบ ๆ ห่างกันทุก ๆ 1ชั่วโมง หรืออาจเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชมในบูธว่ามีคนสนใจมากหรือน้อยแค่ไหน ในปีนี้ ฉากหลังของเวทีทุกบูธ ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นแผงจอ LED ขนาดใหญ่มหึมา มีตั้งแต่สูง 5X5เมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่กินพื้นที่ผนังด้านข้าง, เพดาน เพื่อทำหน้าที่ฉายภาพต่าง ๆ ได้ตามที่กำหนดได้
การเลือกใช้จอ LED เช่นนี้เพื่อช่วยให้ผู้เดินงานรู้สึกได้ถึง ความแปลกใหม่, แสงสีที่ตระการตา สะท้อนไปถึง การก้าวเข้าสู่โหมด เทคโนโลยีชั้นสูง, หรือ ความล้ำสมัยที่ ค่ายรถยนต์เหล่านั้น ต้องการสื่ออย่างชัดเจนว่า ตนมีเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่แล้ว เมื่อใดที่น้องใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “ยานยนต์ไฟฟ้า” ผู้บริโภคอุ่นใจได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแน่นอน
สีของรถยนต์ที่เลือกมาจอดโชว์, สีของผนังด้านข้าง, ด้านหลัง, โต๊ะ-เก้าอี้ ไปจนถึงเคาเต้อร์ประชาสัมพันธ์และสิ่งตกแต่งภายในบูธ ล้วนถูกกำหนดให้มีสีฟ้า, สีเงินวาววับ, ขาว หรือ สีเทาอ่อน เข้าไปแทรกอยู่ก่อให้เกิดความรู้สึก อบอุ่น เป็นมิตร และเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีไฮบริดหรือ ยานยนต์ไฟฟ้า มากกว่าสีฉูดฉาดแบบ แดงสดที่สะท้อนไปถึงพลังจัดจ้านของเครื่องยนต์เบนซินอย่างที่เคยคุ้นตา
เพราะโควิด ธุรกิจยานยนต์ หันเข้าหา Online
อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การส่งต่อข้อมูล การประชาสัมพันธ์ข่าว, แคมเปญ โปรโมชั่น รวมถึงการนัดหมายเพื่อขอจองคิวสำหรับทดลองขับรถยนต์ในงาน บางกอกฯ มอเตอร์โชว์ ครั้งนี้คือท การหันไปอาศัยการสื่อสารในรูปแบบ Online แทนที่การแจกโบชัวร์, ใบปลิว, แผ่นพับกระดาษ หรือ โปสเตอร์ ที่เคยทำหน้าที่แจ้งรายละเอียดราคาจำหน่าย แคมเปญ โปรโมชั่นพิเศษเฉพาะในงานแจกให้ลูกค้าได้ถือเอาไว้ดูนั้น ในปีนี้ค่ายรถยนต์ รวมถึงผู้จำหน่ายอุปกรณ์ประดับยนต์ เหมือนนัดกัน หันไปใช้วิธีเขียนแอพพลิเคชั่น มาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้นใครต้องการด้านใด ทั้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ โปรโมชั่น ก็สามารถรับได้ง่ายๆด้วยการสแกน QR โค้ช เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดได้ทุกอย่าง อีกทั้งยังสะดวกในเรื่องการนัดหมายบางอย่างที่สำคัญเช่น หากลูกค้าต้องการทดลองขับรถทดสอบ ในอดีตลูกค้าต้องลงชื่อเพื่อเข้าคิว และทิ้งกิจกรรมอื่นไปเพื่อนั่งรอให้ถึงคิวการขับทดลอบรถรุ่นที่อยากขับ
แต่ปัจจุบันเพียงแค่เปิดไอแพด คลิกที่หัวข้อ”ตารางเวลาการทดสอบรถ” ก็จะทราบได้ทันทีว่า ช่วงเวลาใดรถคันที่ลูกค้าต้องการขับยังว่างอยู่ เพียงแค่เลือกเวลาที่สะดวก ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน ระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลานัด จะไปทำกิจกรรมอื่นใดก็แล้วแต่ต้องการ กระทั่งถึงเวลาที่นัดหมาย จึงไปยังจุดนัดพบเพื่อทดสอบรถ ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้แก่ทุกฝ่ายได้อย่างยื่ง
ในงาน บางกอกฯ มอเตอร์โชว์ ครั้งนี้เราจึงแทบไม่เห็น ผู้เที่ยวชมงาน ต้องถือถุงเก็บเอกสาร โบว์ชัวร์ ของรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ต่อไป เพราะแค่เปิด Smart Phone ก็ได้รับข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการแล้ว
ญี่ปุ่นเสียงแตกเอารถไฟฟ้า..แต่…อาโน…โน..
บรรดาบูธค่ายรถยนต์ที่ ร่วมแสดงในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 43 จากทั้งหมดมากกว่า 30 แบรนด์ มีเพียง มาสด้า ซูซูกิ, และ อีซูซุ จากญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงแข็งขันกับการนำเสนอรถยนต์พลังงานน้ำมัน โดยไม่มียานยนต์แบบใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด ขณะที่แบรนด์อื่นจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, ซูบารุ หรือแม้แต่ค่ายรถจักรยานยนต์อย่าง ยามาฮ่า ยังต้องนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเชื้อเพลิงรูปแบบอื่นนอกที่ไม่ใช่น้ำมัน มาแสดง เพื่อยืนยันให้ผู้บริโภคเห็นว่า พร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเข้ามา
Toyota และ Lexus แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเทคโนโลยีชั้นสูงมากมาย ไม่ว่าโลกก้าวไปทางไหน Toyota ก็พร้อมไปด้วยเสมอ ในงานนี้ Toyota เปิดตัว bz4X ยานยนต์ใช้งานอเนกประสงค์หรือ SUV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% มีจุดเด่นที่ การชาร์จ 1 ครั้ง สามารถเดินทางได้ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร และแม้ใช้งานไป 10 ปีประสิทธิภาพของแบตเตอรี่แบบ Lithium-iron ก็จะลดลงเพียงแค่ 10% เท่านั้น Toyota ยังนำเอายานยนต์พลังงานไฟฟ้า ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับ Palette มาโชว์ให้คนไทยได้เห็นถึง “เทคโนโยลีชั้นสูง” ที่มีอยู่ในคลังของบริษัทด้วย
ยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับคันนี้ ปรากฏโฉมครั้งแรกโดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพาหนะนักกีฬาผู้พิการใน มหกรรมกีฬา Paralympic ใช้สำหรับเดินทางด้วยความเร็วต่ำ (ความเร็วไม่เกิน12ไมล์ต่อชั่วโมง) มีประตูแบบสไลด์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับ วิวแชร์ ผู้พิการได้อย่างสะดวก ตำแหน่งของล้อทั้ง 4 อยู่ที่ปลายสุดของแต่ละมุม ทำให้รถมีฐานที่กว้างมีความมั่นคงสูง Toyota เสนอแนวคิดว่า ในอนาคตเราอาจใช้ให้ Palette ทำหน้าที่เป็นดั่งหุ่นยนต์ขนส่งสัมภาระ ขนอาหาร, หรือ สิ่งของใด ๆ ก็ตาม ไปส่งยังสถานที่ ๆ กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์อีกต่อไป
Honda เปิดตัว Civic e-HEV หรือ รถพลังงานไฮบริด ผสมระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน กับ มอเตอร์ไฟฟ้า ที่เปิดตัวครั้งแรกของโลกในไทย ซึ่งแม้จะไม่โดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน แต่ตัวรถก็มีเทคโนโลยีชั้นสูงมากมาย ตั้งแต่ระบบไฟสามารถปรับสูง-ต่ำได้เองตามการใช้งานจริง ไปจนถึงระบบอัฉริยะที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ นับ 10 หัวข้อ การมาของ Civic e-HEV แม้จะเป็นรถรุ่นใหม่ ที่เป็นพลังงานไฮบริด แต่ก็มิได้ให้คำตอบแก่แฟนของ Honda ให้คำถามที่ว่าบริษัทอันดับ 2 จากญี่ปุ่นแห่งนี้ พร้อมและจะเอาจริงสำหรับโลกของรถไฟฟ้าขนาดไหน เนื่องจากก่อนหน้านี้ Honda ได้เคยจำหน่าย Honda Accord e-HEV รถปลั๊กอินไฮบริดมาแล้วหลายปี แต่ก็ยังไม่แสดงถึงการก้าวข้ามเทคโนโลยีไฮบริดที่มีอยู่ไปสู่รถไฟฟ้า 100% หรือยานยนต์พลังงานทางเลือกอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่ Honda มียานยนต์เทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้พลังงาน “ไฮโดรเจน” เป็นพาหนะใช้งานชีวิตประจำวันในญี่ปุ่นมานานต่อเนื่องหลายปี แต่กลับไม่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าว หรือ เทคโนโลยีรถไฟฟ้า เข้าสู่ไทยอย่างชัดเจน
ด้าน Nissan, Mitsubishi, และ Subaru ยังมีท่าทีที่ระวังตัวมากกว่าตัดสินใจ ตีตั๋วใบใหม่ ไปกับเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 3 ค่ายล้วนแต่มี ยานยนต์แบบ “ไฮบริด” ที่เป็นเสมือนหลักประกันให้คนไทยได้อุ่นใจไปแล้วในระดับหนึ่งว่า หากเมื่อใดที่ประเทศไทยเปลี่ยนโฉมหน้ายานยนต์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าชัดเจนแล้ว แบรนด์จากญี่ปุ่นที่ เชี่ยวชาญการผลิตรถยนต์ ก็พร้อมที่จะก้าวไปได้ทันที เมื่อ ถึงเวลาค่อยเอายานยนต์ที่มีมาขายก็ไม่ช้าเกินไป แต่การจะตัดสินใจกระโจนลงเรือลำใหม่เร็วไปคงไม่ดีแน่ แม้รู้ดีว่ารถยนต์พลังงานน้ำมันขายไปเรื่อย ๆ ตัวเลขมีแต่หดตัวลง แต่ก็ยังพอทำใจได้ดีกว่า เสี่ยงไปกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ Mazda, Suzuki และ ค่ายรถกระบะอย่าง Isuzu บริษัทเหล่านี้ได้ลงทุนกับเครื่องมือ เครื่องจักร ไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล รวมๆกันแล้ว หลายหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ทันที่จะเห็นจุดคุ้มทุนจากรอบที่ผ่านมา จู่ ๆ รัฐบาลจะมาเปิดตลาดใหม่ ชวนให้ลงทุนไปกับเครื่องมือชุดใหม่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าอีกรอบนั้น ซามูไร เหล่านี้คงคิดหนัก ไม่ใช่ไม่มีเงินจะมาลงทุนเพิ่ม เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นก็ไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้กังวลคือ หากจู่ ๆ รัฐบาลไทย อยากจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตยานยนต์เป็นผู้นำโลกของการขับเคลื่อน หันไปส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงาน “ไฮโดรเจน” อีกรอบในระยะเวลาอันใกล้ (ที่ยังไม่ทันจะคุ้มค่าการลงทุน..อีกแล้ว) เลือด “บูชิโด้” คงได้คว้านท้องโชว์ ประท้วงรัฐบาลไทยเป็นแน่
ค่ายจีนเดินหน้าลุยรถไฟฟ้าแบบไร้เกียร์ถอย
หันมามองผู้เล่นสำคัญในโลกของยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง 2 แบรนด์จากแผ่นดินใหญ่ MG ที่เข้ามาก่อน กับ GWM ดาวรุ่งมาแรงที่ควักกระบี่เล่มยาวออกมากวัดแกว่งกันเต็มที่ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า 100% หลายรุ่น นั้นเรียกความสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างมาก ทั้งสองล้วนได้สิทธิพิเศษทางภาษีสรรพสามิตรจากภาครัฐ ช่วยให้ยานยนต์ไฟฟ้า มีส่วนลดระดับหลักแสนบาททีเดียว MG เปิดตัว New MG ZS EV รถอเนกประสงค์ขนาดกะทัดรัด ที่ได้รับสิทธิพิเศษส่วนลดกว่า 240,000 บาท จนทำให้ราคาจำหน่ายที่ควรจะขาย 1,189,000 บาทนั้น สามารถจำหน่ายได้ในราคาเพียง 949,000 บาทเท่านั้น ส่วน เกรทวอลล์ มอเตอร์หรือ GWM ค่ายยานยนต์ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ขอกรุยทางในด้านยานยนต์ไฟฟ้าแบบไม่ใส่เกียร์ถอยหลังนั้น ก็ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีไปเช่นเดียวกัน โดยรถยนต์ ORA Good Cat ที่เปิดตัวไปในปี 2021ด้วยราคาเริ่มต้น 989,000 บาท สามารถจำหน่ายในราคาใหม่เพียง 828,500 บาท ขณะที่รุ่น Top เดิมตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ 1,1990,000 ก็มีส่วนลดทางภาษีถึงกว่าแสนบาททำให้ แมวเหมียวไฟฟ้าเปิดราคาใหม่ที่ 1,038,500 บาท การได้ส่วนลดจากภาครัฐฯ ย่อมส่งผลดีในแง่ของราคารถถูกลง ทำให้มีโอกาสแข่งขันกับแบรนด์จากญี่ปุ่นที่ปักหลักอยู่ในไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี
เหตุผลสำคัญที่ บริษัทจากแผ่นดินใหญ่ ขอเลือกแข่งขันในตลาดใหม่ไม่เอาน้ำมันอีกต่อไป ก็เนื่องจาก ปัจจัยพื้นฐานที่ประเทศแม่เอง นั้น รัฐบาลจีน ประกาศชัดเจนให้ช่วยกันลดคาร์บอนและฝุ่นควันพิษ ที่เป็นปัญหาใหญ่ เทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมใด ๆ ก็ตรามจึงมุ่งเข็มมาสู่ภาวะลดฝุ่นลดโลกร้อน ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้า ตอบโจทย์ที่ต้องการได้อย่างพอดิบพอดี และขณะเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีด้านรถยนต์สันดาบภายในหรือ เครื่องยนต์ที่จีนมี ก็ไม่สามารถที่จะสู้ ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นได้ ขืนเอาเทคโนโลยีเก่ามาผลิตขาย เราคงได้เห็นเครื่องยนต์เบนซิน หัวฉีด มาพร้อมเกียร์ 5 สปีดกลับมาวิ่งอีกครั้งแน่
ทั้งสองบริษัทต่างคาดการณ์และเตรียมยานยนต์ไฟฟ้าเอาไว้เพื่อขายในงานนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ขณะที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยมีขนาดใหญ่ยอดขายเฉลี่ยนต่อปีอยู่ราวๆ 900,000 คัน มองให้ชัดจะเห็นว่า0.002 % จากยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า จากงานบางกอก มอเตอร์โชว์ครั้งนี้ ไม่น่ามีพลังลมปราณพอที่จะผลิกแผ่นฟ้า หรือ เปลี่ยนโครงสร้างตลาดรถยนต์เมืองไทยได้
ยุโรป เปิดตลาดไฟฟ้าเริ่มเลหลังรถน้ำมัน
การจัดงานครั้งนี้ ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จาก ยุโรปมีการเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่าฝั่งผู้ผลิตจากญี่ปุ่นชัดเจน ไม่ว่าจะ รถราคาสูงระดับ High Performance อย่าง Porsche เปิดตัว Taycan GTS ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตราเร่งจาก0-100 ใน 3.7 วินาทีมาพร้อมระยะทางในการวิ่งได้ถึง500 กิโลเมตรในการชาร์จ1ครั้ง, Aston Martin แบรนด์ดังจากสหราชอณาจักร แม้จะไม่ได้เอา Rapid เข้ามาโชว์ในเมืองไทยแต่ ข่าวการเปิดตัว จำหน่าย และใช้จริงอยู่ที่ประเทศแม่ ก็สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของค่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งแบรนด์นี้ว่า เริ่มขยับแล้วเช่นกัน, หรือจะเป็นรถใช้งานอย่าง BMW เปิดตัวยานยนต์ตระกูล I รถ SUV ไฟฟ้า 100% ที่มีระยะทางวิ่งได้มากกว่า 450 กิโลเมตรมา มาก่อนหน้าจะถึงงานมอเตอร์โชว์นี้แล้ว และทำการตลาดส่งเสริมการขายอย่างจริงจัง จนยอดรถยนต์ที่เข้ามาล็อตแรก 20 คันราคาจำหน่ายคันละ 3.99 ล้านบาทหมดลงในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ เช่นเดียวกับ Mercedes Benz ที่เปิดตัว EQS รถอเนกประสงค์เช่นเดียวกัน วิ่งได้มากกว่า450 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน แต่ผลิตในไทยและตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ 7,000,000++ ทำให้ผู้ใช้ถึงกับสะดุ้งเช่นเดียวกัน แต่เป็นการสะดุ้งถอย ไม่ใช่สะดุ้งเข้าหา, Volvo เป็นค่ายรถยนต์จากสวีเดนที่ประกาศทิศทางชัดเจนว่าจะ เลิกผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ลงไปเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2030 หรืออีก 8 ปี ยานยนต์ของ Volvo จะเป็นไฟฟ้า 100% ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่ายรถจากยุโรปตอนเหนือ เปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่มาตั้งแต่ปี 2021 ด้วยรุ่น XC 40 ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นรถที่ผลิตในประเทศจีน ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าเป็น 0% จึงมีต้นทุนต่ำพอที่จะทำราคาจำหน่ายลงไปแค่ 2.59 บาทเท่านั้น มาปีนี้ Volvo ยังคงรักษาพันธกิจไว้อย่างเหนียวแน่น แสดงจุดยืนอย่างแข็งขันด้วยการเปิดตัว C 40 รถ SUV ไฟฟ้า 100% อีกคันในราคา 2.69 ล้านบาท เพื่อหวังยอดขายอย่างจริงจังให้แบรนด์ Volvo กลับมาโลดแล่นอยู่ในถนนเมืองไทยเพิ่มขึ้นบ้าง
อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตบเท้าหันตามโลกหมุน
นอกจากการแสดงของค่ายรถต่าง ๆ ที่มาโชว์นวัตกรรม หรืออัดแคมเปญดึงยอดขายแล้ว สินค้าบำรุงรักษารถยนต์, อุปกรณ์ตกแต่ง, เครื่องเสียง, ฟิล์มกรองแสง, นับเป็นตลาดแวดล้อมที่จะสอดคล้องกับ เราจะได้เห็นการปรากฎตัวของกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในงานนี้ มีการเปิดตัวบูธ กลุ่มธุกิจให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าที่มีบริษัท Arun Plus (บริษัทอรุณ พลัส ที่มีORถือหุ้น100% ) ร่วมมือกับ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Neta จากประเทศจีนด้วยทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ตั้งแต่บริการแจ้งตำกแหน่งที่ตั้งและบริการธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับการชาร์จไฟในสถานีชาร์จในเครือธุริกิจของ OR ผ่านแอพพลิเคชั่น ev Me, มีบริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า, ไปจนถึงลงทุนสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ นิคม EECจังหวัดระยอง ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ อันเป็นระบบ บริหาร จัดการพลังงานไฟฟ้า ให้หมุนเวียน ครบวงจร สร้างผลผลิตทางเศรษกิจได้รอบด้านและยั่งยืน มีฐานะเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตเต็มรูปแบบไม่ใช่แค่ผลิตและจำหน่ายเท่านั้น
ความจริงจังของเครือ OR ที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ แม้จะเป็นการผ่านตัวแทนอย่าง อรุณ พลัส แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เห็นถึงโอกาส และผลที่จะเกิดขึ้นกับ โลกของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน ว่าจะก้าวไปในทิศทางใด
หรือแม้กระทั่ง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ที่มีอยู่เดิมอย่าง ฟิล์ม ลามิน่า ก็ต้องหันหน้าเข้าหาโลกออกนไลน์และยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ โดยในเอกสารแถลงข่าวการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ฟิล์มกรองแสงสำหรับรถยนต์เจนเนอเรชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า Digital EV boost เป็นฟิล์มที่มีส่วนผสมพิเศษของโลหะ เอื้อต่อสัญญาณไฟฟ้าและระบบดิจิทัลต่าง ๆ เมื่อติดแล้วจะช่วยการสั่งทำงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน ยานยนต์ไฟฟ้า ไหลลื่น ไม่ติดขัดแต่อย่างใด
รัฐขยับหนุนปัจจัยเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชัดเจน
สิ่งที่ปรากฎในงาน มอเตอร์โชว์ เห็นได้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามข่าวที่มีผลอย่างยิ่งและจะเป็นตัวตัดสินอนาคตสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยว่าจะก้าวไปสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าได้จริงหรือไม่นั้น กลับปรากฏขึ้นนอกงาน มอเตอร์โชว์ นั่นคือการแถลงของโฆษกรัฐบาลที่กล่าวถึงรายละเอียดว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ประกาศเดินหน้าสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน เป็นการบอกจากภาครัฐถึงผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ใครก็ตามที่พร้อมเล่นในเกมส์นี้ก็จะได้รับสิทธิพิเศษ อาจะแค่เป็นการงดเก็บภาษีสรรพสามิตร (อย่างที่ MG กับGWM ได้รับไปแล้ว) หรืออาจขยายเพิ่มเป็นการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนที่เอื้อต่อการผลิตรถไฟฟ้า, หรือถึงขั้นการลดภาษีรายได้กรณีผลิตรถไฟฟ้าจากไทยไปขายต่างประเทศ ซึ่งแม้ยังไม่มีใครตอบได้ แต่เพียงแค่ท่าทีที่ชัดเจน ก็ทำให้ผู้ผลิตทั้งหลาย มองเห็นราคาต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง กำไรต่อหน่วนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเสียเวลาผลิตของที่กำไรน้อยต่อไปทำไม เอาเวลาเท่ากัน เงินจ้างแรงงานเท่าเดิม มาทำของที่กำไรมากกว่าไม่ดีหรือ
ขณะเดียวกันในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ เราจะเห็นค่ายรถยนต์หรู ทำโปรโมชั่น กับกลุ่มรถยนต์พลังงานน้ำมันกันอย่างมีนัยะ ด้วยปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ทำให้กลุ่มรถยนต์น้ำมัน เริ่มเห็นอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า หากรถยนต์พลังงานน้ำมัน มีมูลค่าในตัวเองสูงอยู่แล้ว เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน โลกของยานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร รถยนต์แบบพิเศษดังกล่าว ก็ยังคงมีมูลค่าสูงเช่นเดิม และถ้ายิ่งมีการลดกำลังการผลิตรถยนต์น้ำมันลงไป ของที่มีน้อยก็ย่อมเป็นที่ต้องการมากขึ้นทันที
แต่หากเป็นรถยนต์ที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์ใช้งานในชีวิตประจำวันแบบคันเดียวบริการได้หมด ความคุ้มค่าย่อมลดลงตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป หากไม่รีบดั้มราคาลงมา เมื่อถึงวันที่ โลกเปลี่ยนไปมากกว่านี้ รถยนต์พวกนี้ คงไม่ต่างอะไรกับก้อนเหล็กที่ถูกเก็บเอาไว้หลังโชว์รูมรอการนำไปขายเลหลังเท่านั้น
รถยุโรปคือฉากหน้าสวยหรูแต่ผู้คุมตลาดคือแบรนด์ญี่ปุ่น
ด้วยความที่ ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นของใหม่ สำหรับคนไทย การต้องการเวลาเพียงเรียนรู้เทคโยโลยี คุณสมบัติอื่นๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เมื่อมีกลุ่มรถยนต์หรู หรือ นำร่องจำหน่ายอย่างจริงจัง เช่นนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยมีความชัดจนและ คึกคักขึ้นเป็นเท่าตัว หากดูตัวเลขการจำหน่ายเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว กลุ่มนี้แม้จะมีตัวเลขเพียงแค่ไม่ถึง 15% ของยอดการจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดซึ่งไม่น่าจะมีแรงผลักดันพอที่จะทำให้กายภาพของตลาดเปลี่ยนได้ แต่อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มรถยนต์หรู มีความสำคัญมากเนื่องจาก เมื่อพิจารณาไปที่ตัวผู้ใช้รถยนต์ในกลุ่มนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกจัดอยู่ในระดับแถวหน้าของสังคม รายได้ดี ประสบความสำเร็จทางอาชีพ การศึกษาสูง อยู่ในกลุ่มนายจ้างหรือ กลุ่มผู้บริหารบริษัทเอกชน เหตุผลในการเลือกพาหนะที่ใช้งาน จะมีองค์ประกอบหลายๆเรื่องเช่น ความปลอดภัย, ความสะดวกจากเทคโนโลยีชั้นสูง, ประสิทธิภาพ เมื่อรวมๆเหตุผลจนเป็น “ความมั่นใจ” แล้วจึงเป็นเหตุผลที่ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกพาหนะ ดังนั้น เมื่อกลุ่มชนชั้นผู้นำในสังคมเลือกแล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่ กลุ่มผู้ใช้ฐานะรองลงมา จะรับฟังเหตุผลและ “มั่นใจ” ตามไปด้วย ผนวกกับการยก “ภาพลักษณ์” จากเดิมให้ดูดี ดูไฮโซ โก้หรูเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เหตุผลที่กล่าวมาจึงน่าจะพอทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ กายภาพ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและเห็นคำตอบได้ชัดจนแล้วว่า อุสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึง ตลาดรถยนต์เมืองไทย กำลังเปลี่ยนไปสู่โหมดของ EV อย่างแน่นอน โดยมีกลุ่มค่ายรถยุโรป กดสวิทช์เร่งเครื่องเต็มที่สร้างงความมั่นใจในเรื่องของเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการใช้งานว่า จะไม่สร้างปัญหาในระยะยาวแก่ผู้บริโภค พร้อม ๆ กับ ค่ายผู้ผลิตจากจีนที่แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็เชิดสิงโต โห่ร้องมาอย่างอึกทึกครึกโครมว่า ขอเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่พร้อมแทรกแซงตลาดด้วยการส่งของใหม่ราคาถูก เข้ามากระแซะ ผู้ครองตลาดอย่างค่ายผู้ผลิตจากญี่ปุ่น
ส่วนกลุ่มผู้ครองพื้นที่ตลาดรถยนต์ไทยตัวจริงอย่างญี่ปุ่นนั้น ที่ยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ หากจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ใจหนึ่งก็อยากจะทำทันที เพราะยิ่งขยับเร็วก็จะเป็นการ ป้องกัน ไม่ให้ค่ายรถยุโรปหรือ ค่ายจากจีน แย่งพื้นที่ตลาดไปมากกว่านี้ แต่ด้วยลำพังที่มีกำลังแค่สองมือ ข้างหนึ่งเอาไปใช้ในการผลิตและจำหน่ายอย่างเต็มอัตรา ส่วนอีกครั้ง เอาไปดูแลลูกค้าหรือรถยนต์ที่มีอยู่ในตลาดหลายล้านคันที่ไม่สารถทิ้งกลางทางได้ จึงไม่มีมือไหนที่ว่างพอจะไปก่อร่างสร้างตัวกับโลก EV ใหม่อีกครั้ง แถมเงื่อนไงที่ภาครัฐให้ ก็ยังไม่มากพอที่จะมาชดเชยแผลเก่าที่เกิดจากการเปลี่ยนใจของภาครัฐได้ โลกของ EV สำหรับ ค่ายญี่ปุ่น จึงเป็นไปแบบ ช้า ๆ สู้เท่าที่ไหว โดยแอบหวังลึก ๆ ว่าขอให้การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป ให้พอมีเวลาเก็บทุนคืนจากการลงทุนครั้งที่แล้วมาบ้าง แล้วค่อยหาหมัดเด็ด ๆ ไปสู่กันใหม่เมื่อพร้อมและแข็งแรงมากกว่าวันนี้