รัฐจัดงบฯ 8 หมื่นล้าน รับวิกฤติยูเครนอัด 9 มาตรการลดค่าครองชีพ 40 ล้านคน
รัฐจัดงบฯ 8 หมื่นล้าน รับวิกฤติยูเครนอัด 9 มาตรการลดค่าครองชีพ 40 ล้านคน
ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์รัสเซีย – ยูเครน ที่สู้รบกันมานานกว่า 1 เดือน และนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ชาติตะวันตกประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่รุนแรงมากขึ้นยังคงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มทำให้เกิดข้อกังวลในการบริหารเศรษฐกิจที่อาจจำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติซ้อนวิกฤติได้
อย่างที่ทราบกันดีกว่ารัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ปริมาณน้ำมันที่หายไปจากตลาดโลกวันละกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) และน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือปรับขึ้นมาประมาณ 11% ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับขึ้นแทบทุกวันวันละ 60 สตางค์ต่อลิตร
รัฐบาลแถลง 9 มาตรการรับมือวิกฤติ
หลังจากที่รัฐบาลมีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องในทีมเศรษฐกิจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกว่า 2 สัปดาห์ในที่สุดก็มีการแถลงมาตรการการช่วยเหลือประชาชน โดยเป็นมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ก.ค.ปีนี้ โดยใช้วงเงินกว่า 80,247 ล้านบาท
การแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมามีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์เป็นประธาน พร้อมด้วย นายอาคม พิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่ามาตรการที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์วิกฤติในยูเครนมี 9 มาตรการ ที่ครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ได้แก่ 1.ลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค.โดยมาตรการนี้ช่วยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยได้ประมาณ 20 ล้านครัวเรือน 2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างในมาตรา 33 โดยลดอัตราสมทบจาก 5% เหลือ 1% สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค.โดยมีผู้ประกันตนได้ประโยน์ 11.2 ล้านคน และนายจ้างได้ประโยชน์ 4.9 แสนราย 3.ลดอัตราจ่ายสมทบสำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
4.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน โดยลดจาก 9% เหลือ 1.9% สำหรับงวดค่าจ้าง พ.ค.-ก.ค. 5.ช่วยเหลือผู้ที่ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน 6.ช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน สำหรับเป็นส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน 7.ช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 3.18 แสนคน ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาเดิมที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน
8.ช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจำนวน 1.57 แสนคน โดยให้การสนับสนุนส่วนลดค่าน้ำมันก๊าซโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ 9.ช่วยเหลือผู้ใช้รถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกันจำนวน 1.7 หมื่นคน ให้ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
ตรึงดีเซล 30 บ.ถึง 30 เม.ย.หลังจากนั้นช่วยครึ่งเดียว
สำหรับราคาน้ำมันเซลที่มีการตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรมาอย่างยาวนาน จะมีการยกเลิกการตรึงราคาไว้ที่ลิตรละ 30 บาท โดยเริ่มในวันที่ 1 พ.ค. นี้ โดยการช่วยเหลือจากภาครัฐจะยังใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯแต่การช่วยเหลือจะช่วยแค่ 50% หรือครึ่งหนึ่งของราคาที่เกินกว่า 30 บาทเท่านั้น เช่น ราคาขายปลีกที่แท้จริงอยู่ที่ 36 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะช่วยเหลือ 3 บาทต่อลิตร ประชาชนต้องเติมน้ำมันดีเซลในราคา 33 บาทต่อลิตร เป็นต้น
เตรียม 4 แหล่งเงิน 8 หมื่นล้านรับมือวิกฤติ
สำหรับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการในการรับมือวิกฤติรัสเซีย – ยูเครนในครั้งนี้ในวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีที่มาจาก 4 แหล่งเงิน ได้แก่ 1.เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื่อเพลิง เพื่อใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาทจนถึงวันที่ 30 เม.ย.ปีนี้ และการช่วยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่จะทยอยขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดในช่วง 3 เดือน ใช้วงเงินทั้งหมด 39,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ของวงเงินทั้งหมด
2.กองทุนประกันสังคม โดยให้มีการลดเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 วงเงินรวม 35,224 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44% ของวงเงินทั้งหมด 3.เงินงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2565 วงเงิน 3,740 ล้านบาท โดยช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค.ในช่วงที่ค่า Ft จะปรับเพิ่มขึ้น โดยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะได้การลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย การให้การช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างจำนวน 1.57 แสนราย
และ 4.วงเงินสนับสนุนจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,763 ล้านบาท โดยให้การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ที่เติมก๊าซเอ็นจีวีในโครงการลมหายใจเดียวกัน การตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีสำหรับผู้ใช้รถเอ็นจีวีทั่วไป รถตู้และรถโดยสารไว้ที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปอีก 3 เดือน และการให้ส่วนลดราคาก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
รัฐผวาสงครามยืดเยื้อวิกฤติซ้อนวิกฤติ
แม้ว่าจะมีมาตรการในการช่วยเหลือราคาพลังงาน และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน รวมทั้งมีวงเงินที่จะรับวิกฤติไปได้อีกประมาณ 3 เดือน แต่สิ่งที่รัฐบาลกังวลก็คือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ และอาจขยายพื้นที่ความขัดแย้งไปยังประเทศอื่นๆในยุโรป และโลกจะมีการแบ่งขั้วมากขึ้นเรื่อยๆทำให้เกิดความขัดแย้งที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์แบบที่สุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน บอกว่าขอรอดูสถานการณ์ 3 เดือนนี้ว่าจะคลี่คลายได้หรือไม่ ถ้าหากสถานการณ์ยืดเยื้อมาก ทำให้การค้าขายไม่สมดุล โดยราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานหากสถานการณ์ยืดเยื้อมากจะถือเป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” โจทย์ในการแก้ปัญหาจะยากมากขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลยังเฝ้าระวังและจับตาสถานการณ์คือระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค.ปีนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 94.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าราคาเฉลี่ยของปีนี้จะอยู่ที่ 72 – 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหน่วยงานเศรษฐกิจ 3 หน่วยงานได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สศช. และ สศค.ได้มีการวางสมมุติฐานของราคาน้ำมันที่จะส่งต่อเงินเฟ้อ และการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจไทยไว้ 3 สมมุติฐาน ได้แก่ สมมุติฐานที่ 1 ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5% และเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5%
สมมุติฐานที่ 2 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศจะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.2% เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.2% และ สมมุติฐานที่ 3 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกจะสูงถึง 46 บาทต่อลิตร และอัตราเงินเฟ้อจะสูงถึง 7.2% และเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3%
นายกฯสั่งเร่งแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยแพง
นอกจากเรื่องราคาน้ำมันนายกรัฐมนตรียังสั่งการให้เร่งรัดแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย โดยได้สั่งการให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอ รวมทั้งให้เร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด โดยราคาอาจจะต้องแพงขึ้นบ้าง ซึ่งรัฐบาลจะใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย
โดยแนวทางบริหารจัดการว่า 1.ปุ๋ยจะต้องไม่ขาดแคลน รัฐบาลต้องหาปุ๋ยเพิ่มเติมจากต่างประเทศเข้ามาให้เพียงพอ 2.ราคาปุ๋ยต้องเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถรับภาระได้ โดยรัฐบาลจะหาแหล่งสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรรับผิดชอบตามราคาจริงที่ยอมรับได้ และผ่อนผันเกษตรกรไม่ต้องจ่ายต้นอย่างน้อย 2 ปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระด้านดอกเบี้ยแทน ได้กำชับว่าต้องไม่เปิดโอกาสให้มีบุคคล หรือกลุ่มใดเข้ามาหาผลประโยชน์ หรือนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ