‘นายกฯ’ สั่งจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมัน
“วิกฤติยูเครน” จ่อดันเบนซินแตะลิตรละ 50 บาท การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์โควิดเป็นไปอย่างช้าๆหลังจากเผชิญกับผลกระทบโควิด-19 มา กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ การจ้างงานที่ดีขึ้นจำนวนผู้ว่างงานลดต่ำลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เป็นต้นทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสดใส และขยายตัวได้ 3 – 4 %
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง และเผชิญกับความท้าทายที่จะเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พาเหรดปรับขึ้นราคาแทบไม่เว้นแต่ละวัน โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทวีความรุนแรง และตรึงเครียดจนทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเกินระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดย ณ วันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมาสัญญา น้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือส่งมอบเดือน เม.ย. พุ่งขึ้นทำสถิติราคาสูงสุดที่ 117 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2557 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี จนทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นเกิน 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ในไม่ช้า
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของต้นทุนสินค้า และเมื่อราคาสินค้าหลายชนิดปรับเพิ่มราคาขึ้นอำนาจในการซื้อ จับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็ลดลง เกิดเป็นปัญหา “เงินเฟ้อ” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาน้ำมันแพงเป็นเรื่องที่กระทบประชาชน คนใช้รถใช้ถนนโดยตรง และเป็นผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันแบบประเทศไทยก็หนี้ไม่พ้นที่ต้องโดนผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
เอกชนห่วงต้นทุนขนส่งเพิ่มอีก 6 บาทต่อลิตร
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก มีโอกาสพุ่งทะลุเกิน 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มีความรุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงต้นทุนค่าขนส่งจะสูงขึ้นประมาณ 6 บาทต่อลิตร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า และกำลังซื้อของประชาชน ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก
นายกฯประชุมติดตามราคาน้ำมันตลอดสัปดาห์
เรื่องราคาน้ำมัน และสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีการเรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีถึง 3 ครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้เร่งรัดให้กระทรวงการคลังไปจัดทำมาตรการให้การช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเบนซินเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งให้ไปดูมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือเรื่องราคาน้ำมัน หลักจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอด ทั้งการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งก็ต้องยอมรับการสูญเสียการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงหลักจากที่ก่อนหน้านี้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือนทำให้รัฐเสียรายได้ 17,100 ล้านบาท นอกจากนี้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาททำให้รัฐบาลต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯมาช่วยตรึงราคาน้ำมัน โดยกระทรวงพลังงานเตรียมเงินกู้ที่จะเสริมสภาพคล่องกองทุนฯไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากที่ ครม.อนุมัติแล้ว 2 หมื่นล้านบาท และที่จะเสนอขอกู้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งอาจจะช่วยเหลือเป็นเฉพาะกลุ่ม หรืออาชีพต่างๆ เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทุกกลุ่ม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ว่าในเรื่องราคาพลังงานเป็นผลกระทบมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยุโรป ผลกระทบที่ต้องรับมือได้แก่เรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการเตรียมมาตรการไว้
ย้อนอดีตราคาน้ำมันสูงเกิน 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ในอดีตไทยเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันขายปลีกมีการปรับขึ้นลงไม่เท่ากันตามแต่นโยบายที่แต่ละรัฐบาลจะใช้ในการอุดหนุนและบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน เช่น ในปี 2551 ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก และการผลิตนอกกลุ่มโอเปิกที่ตรึงตัวทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวในระดับ 90 – 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะนั้นน้ำมันดีเซลมีราคาสูงถึง 44.24 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันเบนซินขึ้นไปทำสถิติราคาสูงสุด 42.89 บาทต่อลิตร
ในปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์การสู้รบในอิรัก และอุปทานน้ำมันที่ตรึงตัวมาก ในปีนั้นราคาน้ำมันในไทยปรับสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันเบนซินราคา 49.15 บาทต่อลิตร โดยราคาน้ำมันดีเซลมีการตรึงราคาที่ 30 บาทต่อลิตร ไม่ให้กระทบกับภาคขนส่ง ก่อนที่ราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับลดลงในช่วงปลายปี 2557 ในช่วงนั้นรัฐบาลได้ให้กองทุนน้ำมันฯกู้เงินเสริมสภาพคล่องเพื่อใช้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่การตรึงดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรใช้การลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลงจนเกือบเป็นศูนย์เพื่อให้สามารถตรึงราคาน้ำมันในระดับดังกล่าวได้
จับตาเบนซินอาจแตะ 50 บาทต่อลิตรตามทิศทางตลาดโลก
ทั้งนี้ปัจจุบันระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินราคา 42.04 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.74 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลราคานี้เป็นราคาที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงแล้ว 3 บาท ในวันที่ 4 มี.ค.ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินปรับขึ้นอีกครั้งไปจำหน่ายที่ลิตรละ 45.16 บาท หรืออาจไปใกล้เคียงกับระดับราคาสูงสุดในปี 2557 ที่ 49.15 บาทต่อลิตรได้หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ปรับลดลง ซึ่งมีความเป็นไปได้เนื่องจากสถานการณ์สงครามที่อาจบานปลาย ทำให้คนไทยอาจได้เห็นราคาน้ำมันเบนซินที่ราคา 50 บาทต่อลิตรซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทีทีบีคาดค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่ม 2 แสนล้านบาท
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) คาดราคาน้ำมันดิบโลกปี 2564-2565 จะปรับขึ้นเฉลี่ย 65% ซึ่งจะส่งผ่านไปยังน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศให้เพิ่มขึ้น 25% ทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท
จากการวิเคราะห์ผลกระทบราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนผ่านโครงสร้างการ.ใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย จะพบว่าในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ระหว่าง 3.4 – 3.6 หมื่นล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซล 68% ที่เหลือเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน 32% โดยภาคธุรกิจมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียง 8% ของการใช้รวมทั้งประเทศ ซึ่งระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2565
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น 2 แสนล้านบาท (คำนวณเทียบบนฐานปริมาณการใช้น้ำมันในปีปกติ) คิดเป็น 1.3% ต่อจีดีพี โดยจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัวเรือนไทยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1.6%