เปิดญัตติ ซักฟอกลม-ถลกรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ 17-18 ก.พ.นี้
เปิดญัตติ อภิปรายทั่วไป รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ 17-18 ก.พ.นี้
17-18 ก.พ. นี้ สภาผู้แทนราษฎร มีประการประชุมสำคัญใน ‘ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี’ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ แต่เนื้อหาเข้มข้น ไม่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การอภิปรายครั้งนี้ ฝ่ายค้านมีเวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง ส่วนรัฐบาลมีเวลาในการชี้แจง-หักล้างการอภิปรายของฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง รวมเวลาทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง
สำหรับ ‘ญัตติการอภิปราย’ ประกอบด้วย
1. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงเข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคนและเสียชีวิตกว่าสองหมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมายิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ
2. เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคจนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม มีการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย การปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว เหตุเพราะรัฐบาลขาดความจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง เช่น เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปกว่า 40 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการไม่เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสาย ลาว-จีน และสูญเสียโอกาสที่จะได้จากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC)
4.การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน จากรายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและผลวิจัยจากภายนอกพบว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตสูงมาก ส่งผลทำให้อันดับการทุจริตคอร์รัปชันโลกของไทยสูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างกว้างขวางทุกพื้นที่และยังเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังหลายประเทศจนทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายไปทั่วโลก
เห็นญัตติแล้ว คงเดาได้ไม่ยากว่าผู้ที่จะถูกอภิปรายคงหนี้ไม่พ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจาก 4 รัฐมนตรีแล้ว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังต้องถูกอภิปราบด้วยในประเด็น PM 2.5
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นเหมือนทองคำอัครา
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในประเด็นน้ำมันแพง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในประเด็นเศรษฐกิจถดถอย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ