ประยุทธ์ ซ้อมใหญ่ ศึกซักฟอก วอร์มอัพ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) “จองกฐิน” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะ “ระเบิดศึก” ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565
“วิปฝ่ายค้าน” กำหนดเวลาอภิปรายวันแรก -17 ก.พ.65 ตั้งแต่เวลา 09.30-00.30 น. และวันที่สอง-18 ก.พ.65 ตั้งแต่เวลา 09.00-24.00 น. โดยฝ่ายค้านได้เวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้เวลา 8 ชั่วโมง
30 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เปรียบเสมือนเป็นการ “ซ้อมใหญ่” ก่อนศึกซักฟอก “แบบลงมติ” จะเกิดขึ้นหลังจากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ “ครั้งถัดไป” ในเดือนพฤษภาคม 2565
ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี อาทิ เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงเข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้
มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น
เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคนและเสียชีวิตกว่าสองหมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมา
ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ
เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคจนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่
มีการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย
วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จากการไม่เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสาย ลาว-จีน และสูญเสียโอกาสที่จะได้จากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC)
การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน
“ชั่วโมงนี้” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” จากศึกนอก-ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ทั้ง 3 เขต-จังหวัด ของพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ชู “รักลุงตู่-ชอบลุงป้อม”
นโยบาย “คนละครึ่ง” ของลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และสโลแกนขายฝัน อยู่ดีกินดี-ใจถึงพึ่งได้ของลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “ขายไม่ได้” ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.3 ครั้งที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันศึกใน-ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้ากบฏ 21 ส.ส. สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ในสถานะ “เสียงปริ่มน้ำ”
ดีดลูกคิด-นับนิ้วเสียงฝ่ายพรรครัฐบาลที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ในขณะนี้ จำนวน 239 เสียง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 97 เสียง พรรคภูมิใจไทย 59 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง
พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง (ไม่นับ 1 เสียงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง
ส่วนเสียงพรรคฝ่ายค้าน จำนวน 208 เสียง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 131 เสียง พรรคก้าวไกล 52 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง และ พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง
พรรคตัวแปร-ตัวชี้ขาด จำนวน 26 เสียง ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจไทย 19 เสียง และพรรคเล็ก 1 เสียง จำนวน 7 พรรค ได้แก่ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ และ พรรคไทรักธรรม (ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องยุบพรรค)
ไม่นับพรรคงูเห่า ที่พร้อมจะขายตัว-ขายเสียงให้กับฝ่ายที่แจกกล้วยให้มากพอ !!!