ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่ากทม.- เมืองพัทยา ลดกระแสเบื่อประยุทธ์-รัฐบาลขาลง
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) – นายกเมืองพัทยาที่จะเกิดขึ้น ตามคำมั่น-สัญญาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่เกินกลางปี 2565
สนามเลือกตั้งท้องถิ่น 2 สนามสุดท้าย อย่างเร็วที่สุด ตามที่ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 5 แคนดิเดตผู้ว่ากทม. ทั้งที่เปิดตัว-อาสามาแก้ไขปัญหาที่หมักหมม-ซุกอยู่ใต้ฟ้าเมืองมหานคร แต่ไก่โห่ – ใหม่มาด หรือ ยังลับ-ลวง-พราง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ออกจากอ้อมอกพรรคเพื่อไทย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เจ้าแม่กทม.ในตำนานมา “ลงอิสระ” ส่วนจะอิสระแบบตัดขาด หรือ เหลือใย กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ยังไม่ชัด ต้องรอดูท่าที่ของ “ยานแม่” ว่าจะส่งใครเข้าประกวด-ขึ้นเวทีเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในนามพรรคเพื่อไทยหรือไม่
“เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เจ้าของสโลแกน “กรุงเทพเปลี่ยนได้” สลัดคราบอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาสวมเสื้อพรรคประชา ธิปัตย์ เป็นการประเดิมเส้นทางการเมือง-เลือกตั้งผู้ว่ากทม.เป็นสนามแรกของ “เอ้” ก่อนจะขยับเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์
“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” หัวหมู่จากพรรคก้าวไกล เจ้าของม็อตโต้ “พร้อมชน เพื่อคนกรุงเทพ” ทุ่มสุดตัว-ทิ้งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาวัดดวง-วัดใจคน กทม. เพื่อช่วงชิงกระแสกทม. ให้หนุนส่งไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า
“รสนา โตสิตระกูล” แคนดิเดตผู้ว่ากทม.อีก 1 คนที่ส่งตัวเองมาลงใน “นามอิสระ” ดีกรี อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กทม.เมื่อปี 51 ที่ได้คะแนนจากคนกทม.กว่า 7 แสนคะแนน “รสนา” หวังสร้างเซอร์ไพร์สด้วยการฝ่ากระแส “สงครามตัวแทน” ของพรรคการเมืองขาใหญ่-ขาใหม่ แซงทางโค้งการเมืองพรรคซ้าย-พรรคขวา
“บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน แม้ยังไม่เปิดหน้า เป็นแคนดิเดตผู้ว่ากทม. เพราะจะกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ใช้ตำแหน่ง-อำนาจ-หน้าที่ สร้างความได้เปรียบเหนือแคนดิเดตเลือกตั้งกทม.คนอื่น แต่เชื่อขนมกินได้ว่า จะลงมาสานต่องานพ่อบ้านเสาชิงช้า ตามคำขวัญ “กรุงเทพฯเปลี่ยนแล้ว”
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ “โยนหินถามทาง” ปล่อยชื่อ “อนุสรี ทับสุวรรณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคลุงกำนัน รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มาเป็นแคนดิเดตผู้ว่ากทม. หลังจากอกหักจาก “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติฟุตบอล และ “ผู้ว่าหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนกร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. จะเป็นการหยั่งกระแส-วัดเรตติ้งของพรรครัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน ในห้วงเวลา 1 ปีที่เหลือ – ก่อนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 เป็นการลดกระแส “เบื่อประยุทธ์” สะท้อนจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ของพรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาลที่ชู “รักลุงตู่” ว่า “ประยุทธ์ขายไม่ได้”
หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก-ครั้งที่สอง ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ผลปรากฏกว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ ทั้ง 2 เก้าอี้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ต้องปาดน้ำตา-แพ้ซ้ำซากในวัน-เวลาเดียวกัน
สนามที่ 3 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จัตุจักร การ “แพ้ยับ” ของ “เจ้หลี” สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ แบบ “ขาดลอย” ต่อ “เสี่ยอ๊อบ” สุรชาติ เทียนทอง แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นสัญญาณเตือนจาก “คนกทม.” ว่า “ประยุทธ์ขายไม่ได้” ความพ่ายแพ้ 3 ครั้ง ติดต่อกัน ในรอบ 15 วัน ของพรรคพลังประชารัฐ ที่แก้เกม-ปรับเทคติกตลอดการเลือกตั้ง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยชู “รักลุงตู่-ชอบลุงป้อม” การปลดล็อกให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เสมือนเป็นการลดกระแส “คนเบื่อประยุทธ์” และเปลี่ยนเทคติกใหม่ ๆ เพื่อกู้วิกฤต “รัฐบาลขาลง” จาก “สนิม” ที่เกิดจากความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ