มองอนาคตรัฐบาล หลังอาฟเตอร์ช็อก พปชร.
วิเคราะห์อนาคตรัฐบาล หลังอาฟเตอร์ช็อก พปชร.
อาฟเตอร์ช็อก เกิดขึ้นที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เมื่อที่ประชุมพรรควันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติพรรค พปชร.ขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ ส.ส.รวม 21 คน พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค ส่งผลให้ ร.อ.ธรรมนัส และพวกจะต้องไปหาพรรคคใหม่ อยู่ภายใน 30 วัน
สำหรับผู้ที่ถูกขับออกจากพรรครวม 21 คน อาทิ ร.อ.ธรรมนัส , นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น , นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก , นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร , นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
คาดการณ์ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะขน ส.ส.20 กว่าชีวิตไปอยู่ในพรรคเศษฐกิจไทย ซึ่งเป็นพรรคสำรองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
โดยโครงสร้างพรรคเศรษฐกิจไทย จะมีพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “บิ๊กน้อย” อดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายอภิชัย เตชะอุบล เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีกลุ่มรายชื่อ ส.ส.ที่จะย้ายมาร่วมสังกัดเศรษฐกิจไทย
วิเคราะห์อนาคตรัฐบาล
หลังเกิดเรื่องในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ เราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองนับจากนี้ได้ ดังนี้
1.ปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)
โดยจะมีการปรับ ครม.เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส และพวกย้ายไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ได้เสร็จแล้ว จากนั้นก็จะมีการดึงคนของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ในสังกัดของ ร.อ.ธรรมนัส มาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งคนที่จะเป็นรัฐมนตรี อาจไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัส เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะเท่ากับทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสียหน้า ดังนั้น คนที่อาจจะเป็นรัฐมนตรี จะต้องเป็นคนของ ร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัส
2.ถ้าไม่ปรับ ครม.
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปรับ ครม.รัฐบาลจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก โดยกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะมีการกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะการกดดันในงานสภา ที่รัฐบาลจะไม่สามารถผลักดันกฎหมายสำคัญได้ และหากไม่สามารถผลักดันกฎหมายได้ จะเท่ากับว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารงานได้เลย นอกจากนี้ หากกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลถูกคว่ำลง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ซึ่งไม่คุ้มค่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเสี่ยง
3. “บิ๊กตู่” ไม่ยุบสภา ยื้ออยู่จนครบวาระ
การที่ ร.อ.ธรรมนัส และพวกย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ทำให้พรรค พปชร.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับสั้นสะเทือน และแน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ย่อมกระทบต่อการเลือกตั้งในอนาคต
สำหรับวันนี้ บอกได้เลยว่าพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ เพราะเสียเปรียบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น คนของพรรคไหลออก ความขัดแย้งภายใน รวมไปถึงความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ดี เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลายๆอย่างได้
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค พปชร.คือการยื้อเพื่อยู่จนครบวาระ โดยระหว่างนี้ จึงค่อยมาเตรียมความพร้อม จัดทัพใหม่ให้ดีเสียก่อน จึงจะเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
4.ส.ว.ช่วยพยุงรัฐบาล
มองได้ว่านับจากนี้รัฐบาล จะใช้ ส.ว.ช่วยคงเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ โดยเฉพาะงานในสภา ซึ่ง ส.ว.มีอำนาจพิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ส.ก็ต่อเมื่อเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป และเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายสำคัญเข้าสภา แทบทุกฉบับจะต้องกลายเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูป เพื่อที่ ส.ว.จะมาร่วมโหวตด้วย เพื่อให้ฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาได้ง่ายขึ้น
แต่การทำเช่นนั้น ก็จะนำมาซึ่งเสียงวิจารณาว่า ส.ว.เป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล ไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างไม่ควรจะเป็น
5.แจกกล้วย
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นคือ มี ส.ส.ฟ้องประธานสภาว่า มีการแจกเงินให้กับ ส.ส. คนละ 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการโหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบ
แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การแจกกล้วยจะมีมากขึ้นและหนักขึ้นอย่างแน่นอน