โอกาสที่ท้าทายของเศรษฐกิจยุค 5D
ทฤษฎี 5D ที่ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GlobalBusiness Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย
กล่าวในงาน Thailand Economic Challenges 2019 สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย ยุค 5D ที่อาจเป็นได้ทั่ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย” (ความเสี่ยง)
5D ที่ว่า…หมายถึงอะไร? มีนัยสำคัญมากแค่ไหน? ในมุมมองของผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารกรุงไทยคนนี้
เริ่มจาก D ตัวที่ 1 คือ Digital Economy ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยหวังจะให้คนไทยได้เข้าถึงสิ่งนี้ และใช้มันเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด โดยเฉพาะการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ Digital จะสามารถนำมาใช้อำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล การบริการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย แต่ก็มีความท้าทายจากภาวะ Disruption ที่อาจทำให้บางอาชีพและบางธุรกิจต้องล้มหายกันไป สิ่งสำคัญคือ เมื่อรู้ถึงโอกาสและความท้าทายของ Digital แล้ว “ผู้ประกอบการ SME ของไทย ได้ใช้ประโยชน์จาก Digital กันเต็มที่แล้วหรือยัง?”
D ตัวที่ 2 คือ Demographic Change เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนรับมือกับสถานการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในไทยและอาเซียนต่างมีทิศทางและแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะคนกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานใน 4 ด้าน ได้แก่ การมีสุขภาพดี มีเงินใช้ มีชีวิตปลอดภัย และใฝ่หาเพื่อนฝูง
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ บ่งชี้ให้เห็นว่า มากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ อยู่ในหมวดสุขภาพ และการเข้าสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะด้าน Healthcare และด้านการท่องเที่ยว
เพียงแต่ประเทศไทย เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับ D ตัวนี้แล้วหรือยัง?
D ตัวที่ 3 คือ De-Gobalization Wave เป็นผลพวงจากความเป็น “โลกาภิวัตน์” ที่สร้างกระแสและส่งผลกระทบถึงคนในซีกโลกต่างๆ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ กรณีของสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน หรือกรณี Brexit ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ D ตัวนี้ และจะยิ่งส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรัฐบาลของชาติมหาอำนาจ ที่กำลังหวั่นเกรงผลกระทบจากพัฒนาการที่ล้ำหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งอาจกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของพวกเขาได้ในอนาคต
ธนาคารกรุงไทยพยายามสะท้อนในหลายๆ เวทีก่อนหน้านี้ ว่า สงครามการค้าสหรัฐฯและจีน คงยากจะหาข้อยุติได้ในเร็วๆ นี้ ตราบใดจีนยังคงพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำในแบบทวีคูณ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทางการสหรัฐฯยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลจีน และสิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศต่างๆ ตามมา
สำหรับ D ตัวที่ 4 คือ Debt Implication ซึ่งธนาคารกรุงไทยมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ในอัตราเดิมที่ 0.25% แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดอกเบี้ย หรือการดูแลเงินเฟ้อ ก็ไม่น่าห่วงเท่ากับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับMacroprudential ที่คาดการณ์กันว่า ธปท. น่าจะมีมาตรการใหม่ๆ สำทับออกมาอีก โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มที่มี Financial Access สูง
ส่วน D ตัวที่ 5 ตัวสุดท้าย คือ Divide นั่นเพราะ D ทั้งสี่ตัวก่อนหน้า อาจสร้างโอกาสและทำลายธุรกิจบางตัว โดยเฉพาะ Digital ที่หากใครเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ก็จะได้เปรียบและเข้าถึงโอกาส รวมถึงสร้างรายได้และผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้ดีกว่า กระทั่ง อาจก่อปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาตามได้ และมีแนวโน้มว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะขยายผลในวงที่กว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศต่างเป็นกังวลใจ
ถึงตรงนี้ ไม่ว่าใคร? องค์กรไหน? หรือธุรกิจใด? จะใช้ประโยชน์จากยุค 5 D ในความหมายของธนาคารกรุงไทย และ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส มากน้อยแค่ไหน? กระทั่ง ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์แห่งนี้ ยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2562 นั้น จะยังคงเติบโตและขยายตัวได้ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นั่นคือ 3.7
ขณะที่เศรษฐกิจของไทย แม้ในปี 2562 อาจจะชะลอตัวลงจากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.3% แต่เธอก็เชื่อว่ายังคงเติบโตระหว่าง 4.0-4.1% ขณะที่ภาคการส่งออก อาจหดตัวลงมากหน่อย เหลือที่ระดับ 4-5%
ว่าแต่คนไทยและภาคธุรกิจของไทย สามารถจับสัญญาณของเศรษฐกิจในยุค 5D ตามความหมายของธนาคารกรุงไทยได้มากน้อยแค่ไหน? การเตรียมความพร้อมในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำแบบทวีคูณของเทคโนโลยี จึงเป็นสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุด
อย่างน้อยก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในเศรษฐกิจยุค 5D ที่ว่านี้.