รู้ยัง! “กม.อาคารใหม่” ต้องประหยัดพลังงาน

มีความชัดเจนแล้วว่า ในปี 2562 กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ มาตรฐาน BEC ซึ่งครอบคลุมการออกแบบทั้ง 6 ด้าน คือ กรอบอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานรวมในอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียน จะมีผลบังคับใช้กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ หรือดัดแปลง 9 ประเภท ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
ได้แก่ 1.สำนักงาน 2. โรงแรม 3. โรงพยาบาล 4. ศูนย์การค้า 5. โรงมหรสพ 6. สถานบริการ 7. อาคารชุมนุมคน 8. อาคารชุด และ 9. สถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
และที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เตรียมพร้อมด้านบุคคลากรทั้งการให้ความรู้สถาปนิก วิศวกรผู้ออกแบบอาคาร รวมไปถึงการผลิตบุคคลากรวิชาชีพออกแบบรองรับ โดยร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานวิชาชีพต่าง ๆ ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายระยะยาวของ BEC ที่จะทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ภายในปี 2563

พร้อมกับได้มอบฉลากเพื่อแสดงข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับอาคารธุรกิจ ที่ผ่านข้อกำหนดกฎกระทรวง และหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ มาตรฐาน BEC จำนวน 53 อาคาร แบ่งเป็น ประเภท สำนักงาน 31 แห่ง ,ห้างสรรพสินค้า/ดิสเคาท์สโตร์ 14 แห่ง , โรงแรม 5 แห่ง , โรงพยาบาล 3 แห่ง
สำรับอาคารที่มีการติดฉลากแสดงข้อมูลการใช้พลังงานในอาคารดังกล่าว จะเป็นเครื่องยืนยันมาตรฐานของอาคาร ต่อผู้ซื้อ ผู้เช่า ผู้ใช้อาคารทั่วไป ได้รับทราบข้อมูลก่อนการตัดสินใจ และยังกระตุ้นให้อาคารเก่าเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง
หลังจากเกณฑ์มาตรฐาน BEC มีผลบังคับใช้ โดยเริ่มต้นที่อาคารที่ขออนุญาตสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จากนั้นจะมีการขยายผลบังคับใช้ในอาคารที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการลดใช้พลังงานโดยรวมของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย นำไปสู่การพัฒนา เป็น อาคาร Zero Energy Building (ZEB)ในอนาคต ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายที่การลดใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579 ได้อย่างแน่นอน

ล่าสุดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงการใช้ข้อมูลพลังงาน ได้อย่างสะดวด รวดเร็ว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เร่งพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่ชื่อว่า Smart Buildimg 4.0 เพื่อให้อาคารธุรกิจประเมินประสิทธิภาพอาคารด้วยตนเอง
“แอพพลิเคชั่น นี้ ช่วยลดขั้นตอนการขอฉลาก ประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วประเทศ อาคารธุรกิจสามารถประเมินประสิทธิภาพอาคารด้วยตนเอง ไม่ต้องเดินทางมายังกรมฯ ให้เสียเวลา เสียค่าพลังงาน อีกต่อไป เพราะมีข้อมูล ทุกอย่าง อยู่ในแอพนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ10 เดือนในการพัฒนาโมเดลต้นแบบ ” นายประกอบ เอี่ยมสอาด ผู้อำนายการกลุ่มมาตรฐานอาคารใหม่ พพ.กล่าวพร้อมกับบอกว่า
เดิมโครงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ได้ของบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานจำนวน 13 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติมา 6 ล้านบาท ในการพัฒนาโมเดลต้นแบบ เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ว่าจะผู้เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 80 แห่ง โดยเป็นอาคารประหยัดพลังงานเดิม 50 แห่ง และอาคารใหม่อีก 30 แห่ง ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าพลังงานไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท หรือประมาณ 4 แสนบาทต่อราย
อดใจรออีกไม่นาน ประมาณเดือนตุลาคม ปี2562 น่าจะได้เห็นโฉมหน้า แอพพลิเคชั่น Smart Buildimg 4.0 อย่างเป็นทางการแน่นอน…