แผนธุรกิจ “IRPC” ตอบโจทย์การใช้ชีวิต รองรับ Medical Hub
ทิศทางของโลกในอนาคต ทำให้ IRPC ต้องปรับตัว จากการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคแทน
“ในปี 2021 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ได้ประกาศปรับวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว ที่มากกว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน ให้สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ สร้างความยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับประเทศ”
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวถึง ทิศทางธุรกิจในอนาคตพร้อมกับเล่าแผนธุรกิจ 5 ปี (2022-2026) ของ IRPC ว่า จะมุ่งเน้นพัฒนาและขยายธุรกิจที่มีความชำนาญไปยังห่วงโซ่คุณค่าใกล้เคียงของธุรกิจ และการแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน (Core Uplift), การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) และการสร้างธุรกิจใหม่ (Step Out Business)
สำหรับการต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน (Core Uplift) ได้แก่ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของภาครัฐ และจากแนวโน้มความต้องการ ที่สูงขึ้นของน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2024 ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 20% ในปี 2021 เป็น 52% ในปี 2025 โดยบูรณาการกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความเร็วในการเข้าตลาดและการตอบสนองต่อลูกค้า
ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) ได้แก่ โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown) และการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ที่พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2021
นอกจากนั้น IRPC ยังได้ร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิตถุงมือทางการแพทย์ โดยใช้ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เป็นวัตถุดิบ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve กลุ่ม Life Science ของกลุ่ม ปตท.
รวมทั้งการจัดตั้ง “วชิรแล็บ” ห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของอาเซียน
ด้านการสร้างธุรกิจใหม่ (Step Out Business) จะมีทั้งการบ่มเพาะนวัตกรรมจากภายใน (Inside-out Innovation) หรือการทำ Corporate Startup เช่น การสร้างนวัตกรรมทางการเกษตร ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ที่ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
และ การแสวงหานวัตกรรม จากภายนอก (Outside-in Innovation) ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) และการลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อแสวงหา Start up หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ โดยการ M&A ที่นอกจากจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินแล้ว บริษัทฯ ยังได้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจ New S-Curve อีกด้วย
นอกจากนี้ IRPC ยังจะมุ่งเน้นที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กร Net Zero Emission โดยวางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ในปี 2030 โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้พลังงานแห่งอนาคต รวมทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น การขยายโครงการ Floating Solar และโครงการ Solar Farm ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง การพัฒนาวัสดุเคลือบแผง Solar Cell ลดความร้อน และส่วนประกอบอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
การปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ IRPC สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง