PDP ใหม่ พัฒนาโรงไฟฟ้า 4 ภาค ค่าไฟฟ้าถูกจริงหรือ?
หลังจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เดินสาย เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP 2018) ของประเทศไทยฉบับใหม่ (ปี 2561-2580) ในภูมิภาคต่างๆ และที่กรุงเทพฯ โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคง (Security) 2. ด้านราคา (Economy) และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) เสร็จสิ้น
โดยการจัดทำร่างแผน PDP จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มเติม เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภาค ,การจัดสรรโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ , การจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคไฟฟ้า โดยในปลายแผนคาดว่า จะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 17 % จากแผน PDP 2015 ฉบับเดิม ที่ระบุว่าจะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าประมาณ 15 %
ขณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ในส่วนก๊าซธรรมชาติ ก็เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม 37%เป็น 53 %, ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงเหลือ 12% จากเดิม 23%, การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศลดลงจากเดิม 15%
มาอยู่ที่ 9%, พลังงานหมุนเวียนคงเดิมที่ 20% ,เชื้อเพลิงอื่น ๆ จาก 0.06% จาก 0.1% และการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเป็น 6% จากเดิม 0%
ส่วนนิวเคลียร์ อยู่ที่ 0 % จากเดิม 5% นั่นก็หมายความว่า ไม่ถูกบรรจุในแผน PDP ฉบับใหม่นี้
สำหรับแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคตะวันตก จะมีโรงไฟฟ้าหลักขนาดใหญ่ (IPP) และ กฟผ. จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2566 และอีกจำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2567
แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคใต้ จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐชายแดนใต้ (1) 60 เมกะวัตต์ ในปี 2564
โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐชายแดนใต้ (2) 60 เมกะวัตต์ ปี 2565
โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ของ กฟผ. 700 เมกะวัตต์ ในปี 2570 โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 700 เมกะวัตต์ ในปี 2572 โรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ. จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2577 และจำนวน 700 เมกะวัตต์ ในปี 2578
แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคเหนือ จะมี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2569 ,ภาตตะวันออกเฉียงเหนือ โรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ของ กฟผ.ในปี 2563 โรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2566 โรงไฟฟ้าน้ำพอง 650 เมกะวัตต์ ของกฟผ.ในปี 2568 ,ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวม 2,800 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2569-2578 , โรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2573 และ จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2575
ภาคตะวันออก จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 1,000 เมะวัตต์ในปี 2576 และจำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2580 ,ภาคกลางตอนบนจะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ในปี 2575 และเขตนครหลวง จะมีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2569 โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,400 เมกะวัตต์ในปี 2570 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ในปี 2571 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ในปี 2578 และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ. 700 เมกะวัตต์ในปี 2579
สำหรับโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ในช่วงปี 2561-2580 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับแผน PDP เดิมที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ทำให้ตลอดแผน PDP ใหม่นี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนรวม 900 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามกำลังการผลิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2561-2580 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ลอยน้ำ และพลังน้ำ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ,พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตใหม่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมด
ส่วนโซลาร์ภาคประชาชน คาดว่าจะมีการรับซื้อเข้าระบบประมาณ 4,250 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการเน้นให้เกิดการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กตามบ้านที่อยู่อาศัย เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกินจึงนำมาขายเข้าระบบ ซึ่งรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้า อยู่ระหว่างการจัดทำของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งคาดว่าจะออก หลังจากมีการอนุมัติให้ประกาศใช้แผน PDPฉบับใหม่ไม่เกิน 15 วัน
อย่างไรก็ตาม ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีการทบทวนอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า ตามแผนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งอาจจะมีการปรับแผนใหม่ หลังมีความชัดเจนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ รวมถึงความชัดเจนในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
และที่น่าสนใจคือ อัตราค่าไฟฟ้าที่ถูกระบุว่าจะอยู่ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย จะสามารถยืนหยัดได้ตลอดแผน 20 ปี จริงหรือไม่
เพราะจากความเห็นของ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่บอกว่า แผน PDP ฉบับใหม่ ยังมีความคาดเคลื่อน เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) เข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ขณะเดียวกันราคาก๊าซธรรมชาติ( LNG) ก็มีความผันแปรตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและท่อก๊าซฯไม่ลงไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมารวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น จึงเป็นไปได้ยากที่ค่าไฟฟ้าตลอดอายุ 20 ปีจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลคาดไว้.