ผลสะเทือน! รัฐบาลสั่งขยายเพดานก่อหนี้ภาครัฐใหม่ เป็นไม่เกิน 70% จีดีพี
นายกฯประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ คัดท้าย “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ปรับขยายเพดานกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใหม่ จากไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 เผย! เพาดานใหม่ เปิดช่องให้รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะได้อีกไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
สิ่งที่หลายฝ่าย “กังวลใจ” ถึงภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็น “หนี้สินของประเทศ” จะพุ่งทะลุเพดานที่ร้อยละ 60 ของจีดีพี ในยุคของ “รัฐบาลประยุทธ์” นับแต่หลังทำรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ต่อด้วยการเข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะ “รัฐบาลพลเรือน”จนถึงปัจจุบัน
แล้วความกังวลใจนี้…ก็กลายเป็นความจริง!
เมื่อ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อช่วงสายของวันที่ 20 ก.ย.2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฯชุดนี้ ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ และมี ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ, รมว.คลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผอ.สำนักงบประมาณ, ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กระทั่ง ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการจะปรับขึ้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70
โดยที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็น ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
“การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุกสามปี” นายอาคม ระบุ
อย่างที่เกริ่นในตอนต้น ว่า…สิ่งนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดการณ์ของคนที่อยู่ในแวดวงการเงินการคลัง รวมถึงคนที่เกาะติดข่าวนี้มาโดยตลอด เนื่องจาก รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มกู้เงินมาตั้งแต่ปี 2558 จากระดับ 3-5 แสนล้านบาท มาจนถึงระดับ 6-7 แสนล้านบาท
แต่นั่น…ยังเป็นการก่อหนี้เฉพาะส่วนที่ต้องนำมาโปะงบประมาณขาดดุลในแต่ละปี
แล้วหากนับรวม เงินกู้เพื่อนำมาใช้สู้กับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กู้มาก่อนแล้ว 1 ล้านล้านล้านบาท เมื่อปี 2563 และเตรียมจะกู้ใหม่ในภารกิจเดียวกันอีก 5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565
คงทำให้หนี้สินในส่วนของ “หนี้ภาครัฐ” พุ่งทะยานเกินกรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังฯที่ระดับไม่เกินร้อยละ 60 ไปแล้ว
โดยหากรวมเม็ดเงินที่จะต้องกู้มาโปะงบประมาณปี 2565 ที่ระดับ 7 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท และเงินกู้สู้โควิดฯก้อนใหม่อีก 5 แสนล้านบาท
ยังไง…เงินกู้ใหม่ทั้ง 2 ก้อนที่มี ย่อมไปเติมเต็มวงเงินหนี้สาธารณะของประเทศ ทะลุข้อกำหนดเดิมตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ อย่างแน่นอน
เพราะข้อเท็จจริงวันนี้ ประเทศไทยแบกรับภาระหนี้สินสาธารณะคงค้าง ณ เดือน ก.ค. 2564 อยู่ที่ 8.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.59 ของจีดีพี ประกอบด้วย หนี้รัฐบาล 7.83 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 7.81 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน 2.84 แสนล้านบาท รวมถึงหนี้หน่วยงานของรัฐ อีก 7.14 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (บสน.) ภายใต้การนำของ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ยอมรับว่า การขยายเพดานการก่อหนี้จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี จะทำให้เพิ่มเพดานเงินกู้เมื่อเทียบกับประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2564 ไปอยู่ที่ระดับ 16.027 ล้านล้านบาท
นั่นหมายความว่า…รัฐบาลปัจจุบัน สามารถจะก่อหนี้สินของภาครัฐได้เพิ่มเต็มกรอบเพดานเงินที่ 11.21 ล้านล้านบาท
พูดให้ชัด! ต่อให้รัฐบาลจะขอกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 อีก “7 แสนล้านบาท + 5 แสนล้านบาท” รวมเป็น 1.2 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่กระทบกับเพดานเงินกู้ใหม่ ที่มีช่องว่างให้กู้ถึง “11.21 – 8.90” หรือราว 2.31 ล้านล้านบาท
เพราะยังเหลือเพดานให้รัฐบาลชุดนี้ หรืออาจเป็นรัฐบาลชุดหน้า กู้ได้อีก 1.11 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานเงินกู้ที่ร้อยละ 70 ของจีดีพี
ยกเว้น! รัฐบาล…ไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม ขยายเพดานเงินกู้ใหม่อีก จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 80 ของจีดีพีหรือมากกว่า นั้น เนื่องจาก…ก่อนหน้านี้ มีคนในรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลัง มักจะพูดนำร่องอยู่เสมอว่า…
หลายประเทศชั้นนำในโลก ที่มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ต่างก็มีการกำหนดเพดานเงินกู้ของประเทศเกินกว่าร้อยละ 100 ของจีดีพี ทั้งสิ้น
ดังนั้น หากประเทศไทยและรัฐบาลไทย จะขยายเพดานเงินกู้เพิ่มจากร้อยละ 60 ของจีดีพี
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก!!!
แปลกไม่แปลก! รอฟังเสียงจาก “คนวงนอก” ทั้งที่อยู่นอกวงของรัฐบาล แต่ยังอยู่ในประเทศไทย และคนที่อยู่นอกประเทศไทยว่า…จะมีเสียงสะท้อนอย่างไร? กับสถานการณ์นี้
สถานการณ์ที่เพดานหนี้สินของประเทศ พุ่งได้ไม่รู้จักหยุดหย่อน!!!.