ออมสิน! ต้นแบบ “ชะลอฟ้องศาล” ที่แบงก์อื่นควรทำตาม
โอกาสที่แบงก์ออมสินมีให้กับลูกหนี้เอ็นพีแอล ผ่านการ “ชะลอฟ้องศาล” แม้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แค่ช่วงเวลา 4 เดือนจนถึงสิ้นสุด ธ.ค.นี้ แต่ก็ได้ทั้ง “ใจ” และการไม่เป็น “ตัวการ” เพิ่มปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนให้เลวร้ายมากขึ้น ควรที่แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างช่วยเหลือลูกหนี้ตัวเอง
รายได้หลักของธุรกิจแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์พาณิชย์ หรือแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ส่วนใหญ่มาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก รวมถึงค่าธรรมเนียมให้บริการ และเงินปรับต่างๆ โดยเฉพาะส่วนหลังนี้ ที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระของลูกหนี้เงินกู้
ล่าสุด ที่ ธนาคารออมสิน ภายใต้การนำของ นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารฯ เพิ่งออกมาตรการใหม่ เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.2564 ด้วยหวังจะช่วยเหลือลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการสั่ง “ชะลอฟ้องศาล” กับคนกลุ่มนี้ เพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
นับเป็นแบงก์แรกๆ ที่มีแนวคิด “ชะลอฟ้องศาล” กับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเป็นเครื่องสะท้อนให้แบงก์อื่นๆ ทั้งที่เป็นแบงก์พาณิชย์ หรือแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ได้ดูไว้เป็น “ต้นแบบ”
เพราะหากบรรดาแบงก์ต่างๆ ยืนยันจะ “รีดเลือดจากปู” ต่อไป…ไม่เพียงไม่ได้เงิน ยังจะเพิ่มพูนจำนวนลูกหนี้เอ็นพีแอลในระบบให้มีมากขึ้น
แล้วยังจะส่งผลต่อไปถึงระบบเศรษฐกิจและภาพรวมหนี้ภาคครัวเรือนของไทยให้ดูเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ในวังวันนี้ สุดท้าย ผลสะเทือนนี้ ก็จะไหลกลับไปสู่การดำเนินงานของแบงก์ต่างๆ เอง
สำหรับ ธนาคารออมสิน ที่ “โพสิชั่นนิ่ง” ตัวเองเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” นั้น 3 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขาเคยดึงดันจะเอาจริงเอาจังกับบรรดาลูกหนี้เอ็นพีแอล ที่ไม่ยอมเข้าร่วมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา
มีการออกหนังสือเวียนไปตามสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เร่งรัดฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ รวมถึงลูกหนี้เอ็นพีแอลกลุ่มอื่นๆ
โดยเฉพาะ กลุ่มกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น มีมากถึงหลายหมื่นคนจากทั้งหมดเกือบ 4 แสนคน ที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
ผ่านมา 3 ปี ธนาคารออมสิน พบว่า การดึงดันใช้มาตรการทางกฎหมายจัดกับลูกหนี้เอ็นพีแอล โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯนั้น ไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และยังจะส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงธนาคารเอง
ดังนั้น มาตรการ “ชะลอฟ้องศาล” กับลูกหนี้ผิดนัดชำระ จึงเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้
ทำให้สายตาของคนภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลหรือคนทั่วไป ที่มองเข้ามายังธนาคารออมสิน เป็นภาพที่ “หล่อมากกกกกกกก!”
นายวิทัย ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารออมสิน แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้วก็ตาม แต่ยังมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องขาดรายได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จากการปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง หรือมีรายได้ลดลง จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้
ธนาคารฯตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ลูกหนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดขึ้น จึงตั้งใจช่วยเหลือไม่ให้ต้องกังวลเรื่องคดีความ โดยธนาคารฯจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs ตั้งแต่บัดนี้ ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564
ผอ.ธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารฯไม่คิดจะกดดันลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดฯ แต่ต้องกำหนดกลุ่มที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องเป็นหนี้เสียมาก่อนวันที่ 1 ส.ค. และได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด เท่านั้น
หากไม่ใช่คนกลุ่มนี้ หรือเป็นกลุ่มใหม่ที่เป็นเอ็นพีแอลในอนาคตหลังจากนี้…ธนาคารจะใกล้กลไกลข้อกฎหมายมาดำเนินการตามปกติ!
ตัวเลขคร่าวๆ ที่ตรวจพบอย่างไม่เป็นทางการ มีลูกหนี้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ รวมกันมากถึงราว 4 หมื่นบัญชี และคิดเป็นมูลหนี้หลายพันล้านบาท
ธนาคารฯจะให้โอกาสลูกค้าได้เข้ามาหารือกับแบงก์ เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระที่ลูกค้าได้รับผลกระทบในช่วงนี้ด้วย
สำหรับมาตรการชะลอ/ผ่อนปรนการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้เอ็นพีแอลในครั้งนี้ ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 ประเภทได้แก่
1. สินเชื่อบุคคล-รายย่อย หรือลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจพาณิชยกรรม ธุรกิจบริการ เกษตรเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม โดยนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ลงทุนทรัพย์สินถาวร และไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น
2. สินเชื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ชำระหนี้สินอื่น ๆ และจะต้องไม่นำไปปิดบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารฯ ทั้งนี้ต้องไม่นำเงินกู้บางส่วนจากการกู้ในครั้งนี้ ไปลงทุนในสลากออมสินแล้วนำมาเป็นหลักประกันเงินกู้ในคราวเดียวกัน
3.สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือกลุ่มสินเชื่อเพื่อแก้ไขภาระหนี้สิน หรือลดภาระหนี้ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
และ 4.สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท หรือกลุ่มสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ การลงทุนในทรัพย์สินถาวร และเพื่อไถ่ถอน จำนองจากสถาบันการเงินอื่น ยกเว้น การซื้อขายที่ดินที่มีลักษณะเก็งกำไร
โดยธนาคารฯจะชะลอการฟ้องคดีต่อศาลไว้จนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล และมีการผ่อนชำระดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาเริ่มค้างชำระในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563-31 ก.ค.2564
รวมถึง ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย (ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย) แล้วแต่กรณีตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย
ทั้งนี้ การประกาศชะลอดำเนินการทางการกฎหมายครั้งนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และกลายเป็น NPLs ก่อนวันที่ 1 ส.ค.2564 เท่านั้น และจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการขยายระยะเวลาดำเนินการอีกในอนาคต
พร้อมกับแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา รีบติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. นี้
ถึงตรงนี้ ก็น่าที่แบงก์ต่างๆ โดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ ควรจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในกลุ่ม “เอ็นพีแอล” ที่ได้รับผลกระทบได้ปัญหาโควิดฯ ได้มีโอกาสหายใจ ด้วยการผ่อนปรนการบังคับคดี หรือดำเนินการฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรม เช่นที่ ธนาคารออมสินได้นำร่องเอาไว้
โอกาสมักเกิดขึ้นกับ “ผู้ให้” ตามมาเสมอ!!!.