“กรุงไทย” หวั่นเงินเฟ้อพุ่งตามมาตราการรัฐ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. พลิกกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐและราคาอาหารสด
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. อยู่ที่ -0.02% (YoY) เทียบจากเดือนก่อนที่ 0.45% (YoY) สวนทางกับที่นักวิเคราะห์มองไว้ที่ 0.30% [1](YoY) ปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ประกอบกับราคาอาหารสดที่หดตัว 3.73% เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 1.58% เป็นผลจากราคาอาหารสดบางชนิดที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด รวมไปถึงราคาพลังงานที่ขยายตัวชะลอลงที่ 5.99% เทียบกับเดือนก่อนที่ 6.30%
เช่นเดียวกับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่แผ่วลงมาอยู่ที่ 0.07% (YoY) เทียบกับเดือนก่อนที่ 0.14% (YoY) ส่วนหนึ่งจากราคาหมวดเคหสถานที่หดตัว 5.95% (YoY) และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัว 0.32%(YoY) ทั้งนี้ เมื่อเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2021 (ม.ค.- ส.ค.) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.23% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.73%
Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2021 จะขยายตัวใกล้กรอบล่างเป้าหมายที่ 1% แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. จะติดลบ แต่ Krungthai COMPASS มองว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหนุนราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงผลของมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ทยอยสิ้นสุดลง นอกเหนือจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้หลายกิจการเปิดให้บริการได้ตามปกติ รวมถึงคลายล็อกการเดินทางข้ามจังหวัดโดยเฉพาะโซนสีแดงเข้ม 29 จังหวัด จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าหมวดอุปโภคบริโภครวมถึงการเดินทางเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากดัชนี Apple Mobility Trends Report ช่วง 1-4 ก.ย. ที่เริ่มเห็นสัญญาณกระเตื้องขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อปีนี้กลับมาขยายตัวใกล้กรอบล่างเงินเฟ้อเป้าหมาย
[1] อ้างอิงจาก Bloomberg Consensus (as of Aug 21)