ศึกแบงก์ใหญ่ Mobile App. War

“สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”
จะว่าไปแล้ว…มหาสงครามในยุทธศึก Mobile Application War หรือ “สงคราม โมบบาย แอฟพลิเคชั่น” ที่บรรดาแบงก์ค่ายใหญ่ของเมืองไทย ต่างเปิดศึกใส่กันในรอบนี้ อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นแห่งมหากาพย์การต่อสู้ที่ยังมิอาจล่วงรู้ผลแพ้ชนะ
มีความเป็นได้สูงในประเด็นที่ว่า…ทุกฝ่ายกำชัยชนะไปพร้อมกัน พูดให้สั้นและง่าย เกมนี้…ผู้เล่นทุกคนชนะหมด มากน้อยกว่ากันบ้าง…คงไม่ต่างกันมากนัก
หากวัดจากตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกไว้…หลังพบข้อมูลในปีนี้ มีคนไทยมากถึง 37.9 ล้านบัญชี ที่ใช้จนคุ้นชินกับเจ้า Mobile Banking ซึ่งแต่ละแบงก์ต่างงัดฟีเจอร์เด่นๆ ไว้ใน Mobile Application หวังดึงดูดใจลูกค้าเก่าของตัวเอง คู่ขนานไปกับการแย่งชิงลูกค้าจากแบงก์อื่น รวมถึงตลาดใหม่ที่ผู้คนยังเข้าไม่ถึง และยังไม่เคยใช้ Mobile Banking
คาดกันว่า…ตลาดบลูโอเชียนในส่วนนี้ ยังมีเหลืออีกราว 24 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของวัยและกำลังซื้อมากพอจะเป็นกลุ่มลูกค้ามุ่งหวังให้กับบรรดาแบงก์เหล่านั้น
มาดูตัวเลขของแต่ละแบงก์ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบัน เฉียด 38 ล้านบัญชี (1 คนอาจมีมากกว่า 1 บัญชี) เริ่มจากรายใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เจ้าของแอปฯ K PLUS ที่เพิ่งจะปรับโฉมใหม่ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน กับตัวเลขคร่าวๆ ที่พวกเข้าอ้างว่ามีผู้ใช้แอปฯนี้ มากถึงเกือบ 10 ล้านบัญชี และคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์กว่า 60% นั้น
ความเป็นจริง เมื่อเทียบกับตัวเลขของ ธปท. คือ…กสิกรไทย มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 25.85% เท่านั้น
กระนั้น การทุ่มทุนนับหมื่นล้านบาทไปกับเทคโนโลยีไอที นับว่าได้ผลคุ้มค่า เพราะถึงอย่างไร…พวกเขาก็ยังคงครองความเป็น “ผู้นำตลาดแอปฯ” ที่มีผู้คนเข้ามาโหลดและใช้ K PLUS มากที่สุด! เพราะเป็นระบบที่เข้าถึงและใช้งานได้ง่าย ที่สำคัญ มันคุ้นชินสำหรับคนที่เคยใช้มาก่อนแล้ว สิ่งนี้…พิสูจน์ได้ไม่ยากเลย!
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทุ่มงบลงทุนด้านเทคโนโลยีไอทีไม่น้อยกว่าคู่แข่ง ในระดับหมื่นล้านบาทอัพ ผ่านโครงการ SCB Transformation พวกเขาก็มีแอปฯ SCB EASY ที่ระบุว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการถึง 7.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดหลังจากตัวเลข ณ สิ้นปี 60 ที่มีเพียง 5.5 ล้านคน
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีจำนวนร้านค้าที่ใช้บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบแม่มณี (QR merchant) มากกว่า 1 ล้านร้านค้า ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จอีกด้วย
ส่วนแบ่งตลาดเมื่อเทียบกับยอดเต็มของ ธปท. น่าจะไม่เกิน 20.85%
ด้านธนาคารกรุงไทย ที่เพิ่งเปิดตัวแอปฯใหม่ “กรุงไทย NEXT” เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เริ่มมีสัญญาณดีที่น่าจับตามอง! มากว่า “จุดเด่น” ของฟีเจอร์ และเทคโนโลยีที่ทุ่มลงทุนและพัฒนาไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท และเตรียมจะอัดงบก้อนใหม่ใส่ลงในปีหน้าอีก…สัดส่วนเดียวกัน
นั่นคือ การมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ทั้งในกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงชาวบ้านและเกษตรชนบทในต่างจังหวัด นับรวมผู้คนจากโครงการตามนโยบายรัฐบาล อย่าง…ประชารัฐด้วยแล้ว ยิ่งเข้าทางพวกเขาอย่างแรง
แถมการได้ ดาราหนุ่มสุดฮ็อต อย่าง “ณเดชน์ คูมิมิยะ” มาเป็น “พรีเซ็นเตอร์” จนยอดโหลดแอปฯ “กรุงไทย NEXT” พุ่งทะลุ 1 ล้านครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง ไม่แน่ว่า…ถึงตอนนี้ มีผู้คนเปลี่ยนมาใช้แอปฯใหม่ตัวนี้ไปเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากมีฐานลูกค้าเดิม 5 ล้านคนจาก “กรุงไทย Netbank” และลูกค้าใหม่จากโครงการรัฐจ่อคิวเปลี่ยนมาใช้ “กรุงไทย NEXT” อยู่
ตัวเลขที่ “ผยง ศรีวณิช” เอ็มดีใหญ่ ตั้งไว้ปลายปีนี้ ที่ 3 ล้านราย และ 10 ล้านรายในปีหน้านั้น ส่วนใหญ่คงเป็นฐานลูกค้าที่เปิดบัญชีไว้กับกรุงไทยกว่า 30 ล้านบัญชี แต่คงมีไม่น้อยที่ความโดดเด่นของ “กรุงไทย NEXT” และความร้อนแรงของ “พรีเซ็นเตอร์” จะมีส่วนช่วยเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาใช้แอปฯตัวนี้
เมื่อยังคงของเก่าอย่าง “กรุงไทย Netbank” คู่ขนานกับตัวใหม่อย่าง “กรุงไทย NEXT” ว่ากันว่า นับรวมกันแล้ว ก็น่าจะมีฐานผู้ใช้แอปฯเก่า-ใหม่จากค่ายกรุงไทยไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนในยามนี้
เทียบส่วนแบ่งตลาดคร่าวๆ ประมาณ 18.46%
หันไปดูแบงก์ใหญ่ อย่าง…ธนาคารกรุงเทพ ที่ยึดนโยบาย “คอนเซอร์เวทีฟ” ในการดำเนินธุรกิจและธุรกรรมการเงิน เน้นตลาดใหญ่ เช่น ลูกค้าส่งออกและธุรกิจระดับ “พี่บิ๊ก” กับแอปฯ “บัวหลวง เอ็ม แบงก์กิ้ง” ที่มาในแบบ “เรื่อยๆ มาเรียงๆ” แต่ขอบอกก่อนว่า…ไม่ธรรมดา! เพราะค่ายแบงก์แห่งนี้ กินฐานลูกค้ารายย่อยที่กว้างไม่น้อยกว่าแบงก์ใหญ่อื่นๆ
คาดการณ์กันว่า…มีกลุ่มคนใช้ “บัวหลวง เอ็ม แบงก์กิ้ง” ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย และหากเทียบบัญญัติไตรยางค์แล้ว สัดส่วนในตลาดแอปฯ อยู่ในระดับไม่น้อยทีเดียว สูงถึง 13.19%
และหากนับรวม 4 แบงก์ใหญ่…ไล่กันไปตั้งแต่ ธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ แล้ว พวกเขามีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน (25.85 + 20.85 + 18.46 + 13.19) มากถึง 78.35%
นั่นก็หมายความว่า…ในกลุ่มฐานลูกค้าที่เข้าถึงและใช้งาน Mobile Banking จริง เช่นที่ ธปท.ระบุว่ามี 37.9 ล้านบัญชีนั้น เหลือส่วนแบ่งตลาดให้แบงก์ขนาดกลางและเล็ก รวมถึงธุรกิจ Non Bank มัดรวมกันเหลือเพียงแค่ 21.65%
ไม่แน่ว่า…ก้อนนี้ ในอนาคตอันใกล้ เค้กก้อนนี้จะไม่ถูกแย่งไปโดยฝีมือของบรรดาแบงก์ใหญ่ ที่มีความพร้อม ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านโปรโมชั่น และมีเครดิตที่ดีกว่า
นี่ยังไม่นับรวมเค้กก้อนใหม่ แถมเป็นก้อนใหญ่ ที่ผู้คนในกลุ่มนี้ ยังคงเข้าไม่ถึง Mobile Banking และ Mobile Application ของทุกแบงก์ อีกราว 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 63% ของยอดเดิม 37.9 ล้านบัญชี
เค้กเดิมในมือของแบงก์ขนาดกลางและใหญ่ รวมถึงกลุ่ม Non Bank 21.65% หรือราว 8.2 ล้านคน รวมกับเค้กก้อนใหม่ที่ยังเป็น “ตลาดเวอร์จิ้น” อีก 24 ล้านคน เมื่อนำมามัดรวมกันได้ราว 32.2 ล้านคนนั้น ถือเป็นพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่ทุกแบงก์ใหญ่ต่างมองตามัน
ไม่ว่าจะแบงก์ไหนจะกินส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้ ได้มากน้อยกว่า สุดท้ายปลายทางแล้ว…พวกเขาต่างก็ได้กินเหมือนกัน กระทั่ง อาจพูดได้เต็มปากว่า…
มหากาพย์การศึก Mobile Application War รอบใหม่นี้ ทุกแบงก์ต่างก็เป็น “ผู้ชนะ” เหมือนๆ กัน
นั่นเพราะทุกค่าย ต่างยึดถือธรรมเนียมการค้าและธุรกิจ ว่าเป็น…สภาวะ Frenemy คือ เป็นทั้ง “คู่แข่งและมิตร” ในเวลาเดียวกันนั่นเอง.