พลังงานสะอาด เฟื่องฟู โซลาร์ภาคประชาชน ใกล้ตาย
ขณะที่ทั่วโลก กำลังตื่นตัวกับ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์
เนื่องจากปัจจุบัน ต้นทุน การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ได้ลดลงมาก เมื่อเทียบจาอดีตที่ผ่านมา…
นอกเหนือจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แล้ว ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพ
ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ให้แก่ผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน แล้วจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าภายหลัง ซึ่งมักต่ำกว่าอัตรา ค่าไฟที่ซื้อจากภาครัฐ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้กล่าวไว้พร้อมกับ บอกว่า ธุรกิจ Solar-Corporate PPA มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก
“ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,541 พันเมกะวัตต์ ในปี 2593 จากปี 2563 อยู่ที่ 714 พันเมกะวัตต์ หรือขยายตัวสูงถึง 12 เท่า สำหรับในไทย ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม”
นอกจากนี้ ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐทั้งด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษีอีกด้วย
ปัจจุบัน ธุรกิจ Solar-Corporate PPA มีด้วยกัน 3 รูปแบบ
ได้แก่ รูปแบบที่ 1. แบบ Synthetic เป็นการผลิตและส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิต โดยมีผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าเป็นตัวกลาง กระจายไฟฟ้าและมีตลาดกลาง การซื้อขายไฟฟ้าทำหน้าที่ตรวจสอบปริมาณการผลิตและการนำจ่ายไฟฟ้า
รูปแบบที่ 2 แบบ Sleeved เป็นการผลิตและส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง โดยเช่าสายส่งไฟจากภาครัฐในการนำจ่ายไฟฟ้า
และรูปแบบที่ 3 แบบ Private wire เป็นการผลิตไฟฟ้าบนอาคารหรือในสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการน้อยราย ทำให้ภาวะการแข่งขันยังต่ำ
อย่างไรก็ดี รายได้ของธุรกิจ Solar-Corporate PPA ของไทย มีโอกาสขยายตัวเป็นถึง 37,700 -118,200 ล้านบาท ในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2563 หรือขยายตัวถึง 17.5-54.8 เท่า
แต่การเติบโตของธุรกิจ Solar-Corporate PPA ก็จะต้องขึ้นอยู่กับ 3 ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรพิจารณา ประกอบด้วย
1. การเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเฉพาะ Solar Rooftop ในแผน PDP 2022 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนี้สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากภาคเอกชนและกลุ่มครัวเรือนที่ต้องการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองและขายไฟฟ้าที่เหลือใช้
2. การอนุญาตให้เช่าสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าส่งไฟฟ้าโดยตรงไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายได้ในเวลาเดียวกัน และทำให้เกิด Solar-Corporate PPA รูปแบบ Sleeved ในไทย
3. การผลักดันให้มีตลาดกลางการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิด Solar-Corporate PPA รูปแบบ Synthetic ในไทย
และหากมีบริการในรูปแบบ Sleeved และ Synthetic เพิ่มเติมจากแบบ Private wire จะทำให้มีบริการที่หลากหลาย และมีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ธุรกิจนี้เติบโตดีในระยะข้างหน้า
นี่คือแนวทางการเติบโตของ ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ที่แตกต่างจาก โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่นับวัน ยิ่งซบเซา เหี่ยวเฉา ใกล้ตาย…