จีดีพีไทย’64 “ต่ำของต่ำ” ทำคนไทยขวัญเสีย!
รุมสวดรัฐไทย ตัวการฉุดเศรษฐกิจไทยทรุด สวนเศรษฐกิจโลกและชาติคู่ค้าของไทย ระบุ! จีดีพีโต 2-3% ยังไม่น่าดีใจ เหตุมาจาก “ตัวเลขฐานต่ำ” ที่ปีก่อนติดลบ 6.1%
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับใหม่คาดการณ์เศรษฐกิจโลก (จีพีดี) ปี 2564 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา มั่นใจว่า…แรงฉุดจากระบบเศรษฐกิจชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังซมพิษโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 จะเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันให้จีดีพีโลกปีนี้ ทะยานไปถึงระดับ 6%
สอดรับคาดการณ์จีดีพีของ 15 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่กระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 ก.ค. หรือหลังจากนั้น 7 วัน ด้วยการหยิบยกตัวเลขจีดีพีของชาติคู่ค้าเหล่านั้น มาเผยให้สื่อมวลชนได้เห็นทั่วกัน
ทั้ง 15 ประเทศ มีค่าเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ 5.7% โดยมีสหรัฐฯ (6.7%) จีน (8.5%) อียู. (4.6%) และเวียดนาม (6.7%) เป็นตัวฉุดสำคัญ (ดูภาพประกอบ)
สะท้อนว่า…ในปี 2564 นี้ โลกและ15 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ต่างก็ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า ยกเว้น! ประเทศไทย ที่ดูท่าว่าจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ติดระดับโลก
ทั้งจากสาเหตุ…การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นไปในลักษณะ “ยิงหลุดเป้า” ผิดทั้งเงื่อนเวลาและสถานที่…
พูดง่ายๆ รัฐเลือกใช้นโยบายและมาตรการ…แบบไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา แถมยังใช้แบบสเปะสะปะ…ขาดการกำหนดกลยุทธ์แบบองค์รวม
อันมี “ต้นตอ” มาจากการรวมศูนย์อำนาจในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ…ไว้กับคนเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว
ก่อนหน้า…กระทรวงการคลังจะแถลงปรับคาดการณ์จีพีดี ปี 2564 จากเดิม 2.3% เหลือ 1.3% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำร่องล่วงหน้า ปรับลดไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 22 ก.ค. จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% ปรับใหม่เหลือแค่ -0.8-2%
ที่ยังรออยู่คือ มุมมองของ สภาพัฒน์ เพราะเมื่อวันที่ 17 พ.ค.64 ได้ปรับประมาณการจีพีดีใหม่ คือ 1.5 – 2.5% จากเดิม 2.5 – 3.5% และหากต้องอัพเดท ต่อให้ “อนุรักษ์นิยม” เอาใจรัฐบาลสักเพียงใด เชื่อว่า…ตัวเลขที่จะมีออกมา คงต่ำกว่า 1.5% อย่างแน่นอน
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ ฯลฯ ต่างก็สะท้อนมุมมองจีดีพีในปีนี้ อยู่ในระนาบใกล้เคียงกันที่ 1% บวกลบ
หนักสุด! เห็นจะเป็นคาดการณ์เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64 หลังจาก…คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สมาคมธนาคารไทย ที่ได้ปรับเป้าจีดีพี ลดลงมาเหลือแค่ –1.5% ถึง 0.0%
หันไปดู มุมสะท้อนจากต่างประเทศ กันบ้าง โดยเฉพาะ IMF ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีลง เมื่อช่วง ช่วงต้นปี 2564 จากเดิม 4% เหลือ 2.7% เชื่อว่า…หากมีปรับใหม่ รอบนี้…ก็มีสิทธิหลุดหรือเกือบหลุด 1% แน่!
เช่นเดียวกับแบงก์ระดับโลก อย่าง ซิตี้แบงก์ ที่มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ แบบหลุดโลก! ปรับใหม่ของค่ายนี้ ยังมองเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างแรง! ติดลบเพิ่มมากขึ้น จากเดิม -3.5% เป็น -6.8%
ถึงตรงนี้ ลองฟังเสียงจาก นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ “ชื่อดัง” จาก ม.รังสิต ดูบ้าง…เขาให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักในทำนองเดียวกันว่า…
การกำหนดนโยบายของรัฐบาล และการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ นำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นใจของคนในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งการบริหารจัดการไวรัสโควิดฯและวัคซีนโควิดฯ ยิ่งสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ นำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน
“ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ ต่างจากเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ศูนย์กลางปัญหาไปอยู่ที่สถาบันการเงิน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย แต่ครั้งนี้ ประชาชนคนทั่วไป ธุรกิจขนาดกลางลงมาถึงระดับรายย่อย ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขณะที่ สถาบันการเงิน และบริษัทรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างไม่ได้รับผลกระทบมากนัก บางรายมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น มีกำไรมากขึ้น บางแห่งขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศด้วยซ้ำ” นายอนุสรณ์ ระบุ
สอดรับกับมุมมองของ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันอื่นๆ ที่มองว่า…หากรัฐบาลมีการกำหนดนโยบายที่ดี มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามปัญหาอย่างคนรู้จริง! เชื่อว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นที่ถดถอยของนักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จะไม่รุนแรงถึงขนาดนี้
“อย่าลืมว่า ปี 2563 เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ติดลบไปแล้วถึง 6.1% แต่เป็นสิ่งที่คนในระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึงสังคมไทยพอเข้าใจได้ เพราะเป็นผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ที่ไทยและโลกไม่เคยประสบมาก่อน แต่กับปีนี้ หากเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นสัก 2-3% ก็ยังไม่น่าจะดีใจ เพราะถือว่าจีดีพีที่เติบโตนี้ มาจาก “ตัวเลขฐานต่ำ” (-6.1%) ในปีก่อนหน้า ซึ่งหากจีพีพีปีนี้ ติดลบเหมือนกับที่ กกร. และธนาคารซิตี้แบงก์คาดการณ์ล่ะก็ ถือว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้มเหลวในการบริหารประเทศและดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างร้ายแรง” นักวิชาการรายนี้ ระบุ
ถึงบรรทัดนี้ เว็บไซต์ AEC10NEWS คงไม่ต้องขยายบาดแผลอะไรของรัฐบาล…ให้กว้างมากไปกว่านี้อีกแล้ว
ทุกอย่างมันเคลียร์ชัด! ขึ้นกับว่า…จากนี้ไป รัฐบาลชุดนี้ จะรู้ตัวและพร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองหรือไม่?.