วิจัยกรุงศรีคาดมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้
วิจัยกรุงศรีรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เติบโต 0.7% พร้อมส่งสัญญาณอาจผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรีรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เติบโต 0.7% พร้อมส่งสัญญาณอาจผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 4 สิงหาคม มีมติ 4 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดยกรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า ล่าสุดธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้าเป็นขยายตัว 0.7% และ 3.7% จากเดิมคาด 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่มากกว่าคาด ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากประมาณการเดิม โดยกรณีฐาน หากควบคุมการระบาดได้และผ่อนคลายมาตรการต้นไตรมาส 4/2564 จะมีนักท่องเที่ยว 1.5 แสนคน ในปีนี้ และ 6 ล้านคนในปีหน้า แต่หากการระบาดยืดเยื้อและผ่อนคลายได้ในปลายไตรมาส 4/2564 จะเหลือนักท่องเที่ยวปีนี้เพียง 1 แสนคน และปีหน้า 2 ล้านคน
จากมติคงดอกเบี้ยไม่เป็นเอกฉันท์ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่การตัดสินใจของกนง.ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้สำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบัน ประกอบกับมุมมองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเชิงลบมากขึ้นและยังระบุถึงความเสี่ยงด้านต่ำที่มีอยู่ค่อนข้างมาก วิจัยกรุงศรีประเมินความน่าจะเป็นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายนจะมีเพิ่มมากขึ้นหากในกรณีที่
- ประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งประสิทธิภาพและการฉีดวัคซีนต่ำกว่าคาด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จำเป็นต้องขยายเวลาการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์นานขึ้น
- การแพร่ระบาดในประเทศ และมาตรการล็อกดาวน์มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย และแผ่ลามกระทบไปยังภาคส่งออกที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตเพียงตัวเดียวที่เหลืออยู่ในปีนี้
- มาตรการทางคลังและความช่วยเหลือทางการเงินที่กำลังทยอยเพิ่มเติมมีความน่าผิดหวังหรือไม่เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของการระบาดของ COVID-19
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมนั้นชะลอลงอย่างต่อเนื่อง คาดอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและมาตรการรัฐช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 0.45% YoY ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จาก 1.25% ในเดือนมิถุนายน แม้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (+29.4%) แต่มีปัจจัยลดทอนจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ลดลงมากสุดในรอบ 3 ปี (-1.58%) อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไก่สด และผักสด ประกอบกับยังมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในการปรับลดค่าประปาและค่าไฟฟ้าเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ (กรกฎาคม-สิงหาคม) ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.14% จาก 0.52% เดือนมิถุนายน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.83% และ 0.26% ตามลำดับ
ในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยอาจสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดอาจปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้อุปสงค์อ่อนแอลงมาก สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงความต่อเนื่องจากมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องในยามที่เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะวิกฤต
ด้านเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯยังมีสัญญาณบวก ตลาดแรงงานสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผลจากไวรัสกลายพันธุ์อาจจำกัดเฉพาะธุรกิจภาคบริการในพื้นที่แพร่ระบาด ในเดือนกรกฎาคมการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 9.43 แสนตำแหน่งสูงกว่าตลาดคาด ส่วนอัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ 5.4% ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 กรกฎาคมปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ 2.93 ล้านคน
การฟื้นตัวของตลาดแรงงานมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนว่าการขาดแคลนกำลังคนในธุรกิจบางสาขาเริ่มคลี่คลาย กรรมการเฟดบางท่านประเมินว่าเศรษฐกิจอาจสามารถปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่เป้าหมายระยะยาวของเฟดภายในปลายปีหน้า ขณะที่รัฐมนตรีคลังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและจะปรับตัวลงในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งสูงเกินกว่า 1 แสนรายเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ โดยเฉพาะรัฐฟลอริดา เท็กซัส มิสซูรี และอาร์คันซอ คาดว่าภาครัฐจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แต่จะเพิ่มความเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดเพียงเฉพาะจุด และอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคบริการในพื้นที่ดังกล่าวชะลอลง ขณะที่เศรษฐกิจโดยภาพรวมยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
อังกฤษเปิดเผยแนวทาง QE Tapering แต่ยังไม่เร่งปรับลด QE ส่วนข้อจำกัดด้านอุปทานและไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอาจมีผลต่อการฟื้นตัว ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% ขณะที่แสดงความกังวลถึงอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจพุ่งสูงขึ้นชั่วคราวสู่ระดับ 4.0% ในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงไตรมาสที่ 1/2565 นอกจากนี้ ยังระบุถึงแนวทางการปรับลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ดังนี้ (i) เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับ 0.5% BOE จะไม่นำรายได้จากการขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษที่ครบอายุไถ่ถอนกลับมาลงทุนใหม่ และ (ii) เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับ 1.0% BOE จะเริ่มขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่ออกไป
การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อุปสงค์เร่งขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดด้านอุปทานส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราว โดยในเดือนมิถุนายนแตะระดับ 2.5% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2561 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการผลิตบางสาขาในช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญแรงกดดันจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบที่ยังปรับตัวได้ล่าช้า ประกอบกับการระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 29,312 ราย สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 59.2 ปัจจัยข้างต้นบ่งชี้ว่า BOE ยังจำเป็นต้องคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50% และเริ่มปรับลด QE ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่มีแรงกดดันจากทางการต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรวมถึงการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเดือนกรกฎาคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนปรับตัวสู่ระดับ 52.4 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีฯนอกภาคการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 53.3 ส่วนดัชนีฯภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ตัวเลขล่าสุดสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากช่วงต้นปี ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการควบคุมการเก็งกำไรเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่มีคุณภาพ ล่าสุดทางการจีนส่งสัญญาณควบคุมธุรกิจเกมออนไลน์และวิดีโอสตรีมมิ่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น นอกจากนี้ จีนยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากโรค COVID-19 ระลอกใหม่โดยเฉพาะการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์เดลต้ารวมถึงอุทกภัยในมณฑลเหอหนาน แต่คาดว่าผลกระทบอาจมีจำกัดจากการเร่งควบคุมการระบาดและการเร่งกลับมาผลิตหลังน้ำท่วมคลี่คลาย ประกอบกับการออกมาตรการภาครัฐเพื่อเยียวยา ควบคู่กับการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปเพื่อบรรเทาการชะลอตัวและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง