จบไม่สวย !! เชฟรอน เอราวัณ
เป็นความหวังอัน “ริบหรี่” ที่ ปตท.สผ.ผู้ได้รับสัมปทาน แหล่งก๊าซเอราวัณ รายใหม่ จะได้เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตก๊าซฯ ก่อนหมดสัมปทาน
23 เมษายน 2565 คือวันสิ้นสุดสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทย หลังจากเริ่มผลิตก๊าซเป็นครั้งแรกภายใต้สัญญาสัมปทานเมื่อปี 2524
โดยมีบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ
อีกไม่กี่เดือนก็จะเปลี่ยนมือมาเป็น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ชนะการประมูลเข้าดำเนินงานแทน
13 ธันวาคม 2561 คือวันที่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิอย่างเป็นทางการ
อันที่จริงแล้วการรับไม้ต่อจาก เชฟรอน ดูแล้วน่าจะราบรื่น
แต่ก็มาสะดุดตรงที่ เชฟรอน ต้องจ่ายค่ารื้อถอนและวางหลักประกันค่ารื้อถอนให้กับรัฐเต็มจำนวน 142 แท่น กว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ที่กำหนดเพิ่มเติม โดยให้ ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องดำเนินการรื้อถอนและต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนไว้ และต้องการดำเนินการรื้อถอนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อด้วย
1 ปีกว่าที่มีการเจรจาค่ารื้อถอนและวางหลักประกันค่ารื้อถอนที่คืนให้กับรัฐ สุดท้ายก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติลงได้
แม้ว่าภาครัฐ จะผ่อนปรนเงื่อนไขในการวางหลักประกันค่ารื้อถอน ตามสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมที่ เชฟรอน ผลิตไปแล้ว ส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลือและผลิตต่อในอนาคต รัฐจะรับผิดชอบในการรื้อถอนเอง
นั่นก็หมายความว่า เชฟรอน ไม่ต้องจ่ายค่ารื้อถอนเต็มจำนวน 142 แท่น
แต่แล้ว “เชฟรอน” ก็ไม่รับเงื่อนไข
เชฟรอน เดินหน้า ยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการ เพราะไม่สามารถตกลงกับกระทรวงพลังงานได้ว่าจะต้องวางเงินค่ารื้อถอนในสัดส่วนเท่าใด เพราะ ปตท.สผ. ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ จะเข้ามาใช้ประโยชน์ต่ออีก 10-20 ปี
ดังนั้นสัดส่วนการจ่ายควรจะน้อยลง แต่รัฐกลับให้จ่ายก่อนและจ่ายเต็ม
ต้องจ่ายค่ารื้อถอนเท่าไหร่ ถึงเหมาะสม นี่คือข้อพิพาทที่ เชฟรอน ร้องขอให้ อนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ตัดสิน
และแม้ เชฟรอน จะเปิดทางให้ ปตท.สผ. ได้เข้าพื้นที่ระยะ 2 ในแหล่งเอราวัณภายใน 1-2 เดือนนี้ อาจดูดีมีผลตอบสนองจากการเจรจา แต่ได้ประโยชน์น้อย เพราะเข้าสู่ฤดูมรสุม ไม่เหมาะในการขุดเจาะ วางแท่น ใต้ทะเลอ่าวไทย
หมดหน้ามรสุม ก็สิ้นสุดอายุสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ พอดี
เพราะการติดตั้งแท่นผลิตก๊าซฯต้องใช้เวลา 1 ปีกว่าถึงจะแล้วเสร็จ เพื่อให้แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ฉะนั้น จึงเป็นที่แน่นอน และรับทราบตรงกันว่า ความล่าช้าในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ส่งผลทำให้ ปตท.สผ.ไม่สามารถที่จะผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ที่ระบุไว้ แม้ว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในช่วงนี้ 1-2 เดือนนี้ ก็ตาม
ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ประเมินไว้ว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในแหล่งเอราวัณในช่วงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เมษายน 2565 น่าจะอยู่ที่ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
แต่ทว่า ก็ยังขาดหายไปอีกจำนวน 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันอยู่ดี
นางสาวเมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโส ในฐานะผู้จัดการโครงการ G1 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. บอกว่า ทางออกของปัญหาปริมาณก๊าซฯที่ขาดหายไป
คือ เพิ่มกำลังการผลิตแหล่งบงกช อีก 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งอาทิตย์ อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะวางแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเข้ามาเสริม
ประกอบกับที่ผ่านมา ภาครัฐก็ได้เปิดเสรีให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติได้แล้ว ฉะนั้นแล้ว…ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจึงไม่น่าจะก่อปัญหาให้กับประเทศ
แต่…คดีความ ยังต่อดำเนินต่อไป
450 ล้านบาท คือ เงินที่ กระทรวงพลังงาน เตรียมไว้จ้างที่ปรึกษากฎหมายสู้คดีกับเชฟรอน ในชั้นอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ
จะจบสวยด้วยการเจรจา หรือ กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหรือไม่…ลองถามใจเธอดู!!