บทบาท “ออมสิน” – ภารกิจ “ธนาคารเพื่อสังคม”
มองแบงก์ออมสิน จาก…“มาตรการ/โครงการ ผลิตภัณฑ์/บริการทางการเงิน” ที่ล้วนตอบสนองความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจขนาดย่อมถึงระดับสูง ถึงนโยบายรัฐและระบบเศรษฐกิจ สมแล้วกับสิ่งคาดหวังในความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ของคนไทยและประเทศไทย
ธนาคารออมสิน ในวันนี้…กลายเป็น “ตัวหลักสำคัญ” ในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในภารกิจต่างๆ มากมาย
นับแต่การกระตุ้นการใช้จ่าย การเยียวยา และเป็นแหล่งทุนที่เข้าถึงได้ง่ายให้กับภาคประชาชน, การเยียวยาและเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ ตั้งแต่ระดับ…ธุรกิจขนาดย่อม (คนตัวเล็ก) ผู้ประกอบการรายย่อย ยันธุรกิจเอสเอ็มอี
หลายมาตรการ โดยเฉพาะ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงอีกหลายๆ โครงการสินเชื่อที่ธนาคารออมสินรังสรรค์ออกมา ล้วนเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่ตัวบุคคล ร้านค้า องค์กรธุรกิจ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สมความคาดหวังของสังคมไทย กับจุดยืนและปรัชญา “ธนาคารเพื่อสังคม” เช่นที่ นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน คนปัจจุบัน ได้ประกาศอย่างต่อเนื่อง ถึงภารกิจสำคัญนับจากนี้ ที่นอกจากจะต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะต้อง “ล้อ” ไปกับความเป็น….“ธนาคารเพื่อสังคม”
ดังจะเห็นได้จากผลงานที่สะท้อน มาตรการ/โครงการ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทั่งปัจจุบัน
พูดได้ว่า…ธนาคารออมสิน ถือเป็น สถาบันการเงินของไทยลำดับต้นๆ ที่ “อยู่ในใจ”ของคนไทยในวันนี้และอนาคตอีกยาวนาน
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน…ธนาคารออมสิน เพิ่งออกแคมเปญ “โดนๆ” ให้กับกลุ่มลูกหนี้รายย่อย (วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) นั่นคือ…
มาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 งวด (เดือน) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดฯ มากกว่า 750,000 ราย คิดเป็นวงหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท
โฟกัสกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระตั้งแต่งวดเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 หลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคารฯ
“ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใดๆ” นายวิทัย ย้ำ
โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่ม เฟสแรกวันที่ 25 ก.ค. และเฟสที่สองช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทาง แอปพิเคชั่น MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
จากตรงนี้ เห็นได้ว่า…นอกจากมาตรการ/โครงการ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแล้ว ธนาคารออมสินยังมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านทาง แอปฯ MyMo ซึ่งจากมาตรการข้างต้น ก็พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า…พวกเขามีพัฒนาการทางด้านนี้ไปถึงไหนกันแล้ว
ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน ก็เพิ่งจะเชิญชวนให้ลูกค้าธนาคารฯได้ติดตั้ง แอปฯ MyMo ด้วยตัวเอง ผ่านบัตรเดบิตธนาคารออมสิน
“ธนาคารฯ ได้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มีบัตรเดบิต สามารถเปิดใช้บริการแอป MyMo ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเดินทางไปเปิดใช้แอปที่สาขาอีกต่อไป นอกจากเป็นการลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดฯในช่วงนี้ ลูกค้าที่ต้องการขอสินเชื่อ หรือขอพักชำระหนี้ และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ก็จะได้รับความสะดวกจากการใช้บริการผ่านแอป MyMo ด้วยเช่นกัน” ผอ.ธนาคารออมสิน ย้ำและว่า
ลูกค้าบัตรเดบิตที่ยังไม่มีแอป MyMo สามารถดาวน์โหลดแอป MyMo ด้วยสมาร์ทโฟน ซึ่งรองรับได้ทั้งระบบปฏิบัติการ ISO / Android และ HUAWEI จากนั้นเปิดใช้บริการแอป MyMo ด้วยข้อมูลบัตรเดบิตใน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้…
(1) กรอกหมายเลขบัตรเดบิต (2) กรอก PIN บัตรเดบิต และ (3) กรอก OTP เพื่อยืนยันการเปิดใช้บริการ MyMo โดยสามารถดูรายละเอียดคำแนะนำขั้นตอนการดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอป MyMo ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร 1115 กด 1
อีกโครงการที่ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล นั่นคือ โครงการ “สินเชื่ออิ่มใจ” ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม มีที่ตั้งถาวร รวมถึง Food Truck และอื่นๆ แบบเงื่อนไขผ่อนปรนสุดๆ กำหนดวงเงินกู้ต่อราย “ไม่เกิน 100,000 บาท”
เริ่มเปิดให้กู้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะเปิดไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน 2,000 ล้านบาท
เท่าที่เช็คจากข้อมูลในแอปฯ MyMo วงเงินในโครงการ “สินเชื่ออิ่มใจ” ยังพอมีเหลืออยู่ และควรที่กลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม Food Truck ฯลฯ ควรจะเข้าไปตรวจสอบสิทธิของตัวเองผ่าน แอปฯ MyMo
เนื่องจากถือเป็นอีกแคมเปญที่ ธนาคารออมสิน “จัดหนัก” ให้กับผู้ประกอบการ SME ท่องเที่ยว เพราะไม่เพียงวงเงินกู้ต่อรายที่ค่อนข้างสูง แถมยังไม่ต้องใช้หลักประกันการกู้ ยังกำหนดให้มีการปลอดชำระเงินงวด 6 งวดแรก กำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี (รวมระยะเวลาปลอดชำระแล้ว) คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ
แค่ “ผู้กู้” แนบรูปถ่ายสถานประกอบการของตนเอง พร้อมเอกสารประกอบอื่น เช่น รูปถ่ายใบเสร็จ/สัญญาเช่า/ใบทะเบียนการค้า หรือเอกสารอื่นใดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการประกอบกิจการและการเป็นเจ้าของ เท่านั้น
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังมี ชุดมาตรการพักชำระหนี้อีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น…
มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ (ให้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง)
มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์
มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา
และ มาตรการแก้หนี้ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด ของ COVID-19
ทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดฯเป็นสำคัญ
เรียกว่า…หากจะเจียระไนโครงการ/มาตรการแบบลงลึกในรายละเอียด คงต้องใช้เวลาและพื้นที่นำเสนออีกมาก เพราะธนาคารออมสินในวันนี้ มีโครงการ/มาตรการดีๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น…
สินเชื่อสู้ภัยโควิดฯ ที่ให้กู้รายละ 10,000 แก่รายย่อย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถและจักรยานยนต์ รวมถึง กลุ่มผู้ค้าสตรีทฟูดส์ ฯลฯ
จึงไม่แปลกใจ! หากบทบาทของธนาคารออมสินในวันนี้ จะได้ก้าวสู่ความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว แม้ว่ายังจะมีภารกิจเบื้องหน้าให้ต้องท้าทายอีกมากก็ตาม…
เชื่อว่า…ภายใต้การนำของ นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน ทั้งในวันนี้…และอีกราว 3 ปีกับเวลาที่เหลือในภารกิจ “สมัยแรก”คงจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ผลจากการมี มาตรการ/โครงการดีๆ มีผลิตภัณฑ์และบริการทางเงินที่ดี มีเทคโนโลยีที่พร้อม มีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง มีทีมผู้บริหารและพนักงานที่เข้มแข็ง รวมถึงมีผู้บริหารระดับ “ผู้นำสูงสุด” ที่มากวิสัยทัศน์…ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้ไม่ยากนัก
แน่นอนว่า ความสำเร็จจากองค์กร…สู่สังคม และผลสัมฤทธิ์จากสังคม…ไหลกลับคืนสู่องค์กร กระทั่ง เป็นที่ประจักษ์ต่อทุกสายตาในสังคมไทย ย่อมพิสูจน์ทราบถึงความจริงที่ว่า…
ธนาคารออมสิน ณ เวลานี้ ใกล้เคียงกับบทบาทความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ได้มากสักเพียงใด!.