ดี 5 เด้ง! เมื่อคลังดึง “ฟู้ดเดลิเวอรี่ร่วมคนละครึ่ง”
เมื่อเสียงเพรียกร้อง! จากเจ้าของร้านอาหารฯทั่วไทย ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ กระทั่ง กระทรวงการคลัง ชวนเจ้าของแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ “ร่วมถกออนไลน์” จนได้แนวทาง สร้าง “ระบบกลาง” รองรับการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง สิ่งนี้…ได้สร้างจุดเด่น-ข้อดีมากถึง 5 ประการ
“ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบกลาง เพื่อให้ผู้ให้บริการ Food Delivery Platform สามารถเชื่อมต่อกับระบบของโครงการคนละครึ่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery Platform ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำธุรกรรมและป้องกันการใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งอาจจะกลายเป็นเรื่องทุจริตได้ โดยในลำดับถัดไปกระทรวงการคลังจะหารือในรายละเอียดรวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ กับผู้ให้บริการ Food Delivery Platform โดยเร็ว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบอีกระยะหนึ่ง”
คำตอบข้างต้น…ออกจากปากของ “โฆษกกระทรวงการคลัง” น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ถึงความคืบหน้าที่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะการดึงผู้ให้บริการ Food Delivery Platform สามารถเชื่อมต่อกับระบบของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564
สิ่งนี้…น่าจะทำให้ Stakeholder หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้ง 3-4 Party พลอยเบาใจไปใจเยอะ
ไม่ว่าจะเป็น…ร้านค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และ ประชาชนในฐานะบริโภค ที่ได้สิทธิ “โคเพย์” ในโครงการคนละครึ่ง แม้กระทั่ง คนในหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ สศค. และกระทรวงการคลังเอง คงแอบปิติในใจ เพราะหากโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจริง
โจทย์ที่ภาครัฐ หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายแบบ “โคเพย์” ของประชาชน และให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กและย่อม ก็มีสูง!
แม้ประโยคต่อมาที่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” จะย้ำว่า… “ในปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้มีการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery Platform” ทว่าสิ่งนี้…ก็เพียงแค่การยืนยันในทำนอง “ต้องใช้เวลาสักระยะ”
เป็นที่คาดหมายกันว่า…“ล็อตหลัง” ของโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 หรือ ในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ คนไทยที่ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่ง คงได้ใช้สิทธิ “โคเพย์” ในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯของผู้ให้บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่
เป็นที่คาดหมายกันว่า…“ล็อตหลัง” ของโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 หรือ ในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ คนไทยที่ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่ง คงได้ใช้สิทธิ “โคเพย์” ในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯของผู้ให้บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่
ระหว่างนี้…กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างนัดหมายผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ มาพูดคุยออนไลน์ เพื่อหาข้อสรุปในลักษณะคู่ขนานกันไป
หากจะย้อนหลังไปถึง “จุดตั้งต้น” ของแนวคิดในการดึงเอาฟู้ดเดลิเวอรี่มาอยู่ในโครงการคนละครึ่ง คงเป็นผลมาจากการ “จุดชนวน” ของผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ ที่ส่งผ่านความต้องการไปถึงสมาคมภัตตาคารไทย หลังจากยอดขายของพวกเขา “ตกอย่างแรง” มากกว่า 30-40% ก่อนหน้าที่รัฐบาลประกาศ ล็อกดาวน์ 10 + 3 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดชายแดนใต้ และ 3 จังหวัดใหม่ “อยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี”
หลังการประกาศล็อคดาวน์…เรื่องยอดขายจากการ “วอล์คอิน” คงไม่ต้องพูดถึง! ความหวังหนึ่งเดียวที่พอจะมี…คือ คำสั่งซื้อออนไลน์ โดยเฉพาะการสั่งผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เท่านั้น
และเสียงของบรรดาเจ้าของร้านอาหาร ถูกส่งผ่านไปยัง…นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมสมาคมภัตตาคารไทย ที่ต่อมา…เธอได้ส่งต่อสัญญาณถึงรัฐบาล เพื่อให้ผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการ และหนึ่งในนั้น คือ ข้อเสนอให้มีการ “ปลดล็อก” เปิดโอกาสให้ใช้จ่ายสิทธิ (เงิน) ในโครงการคนละครึ่งกับฟู้ดเดลิเวอรี่
นำมาซึ่งเสียงสนับสนุน ทั้งจากร้านค้าและผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างถล่มทลาย!
จะว่าไปแล้ว ตัวแทนร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น…นายวรพจน์ พูลถนอมสุข เจ้าของร้านอาหาร “เป่าซิงสุกี้” ย่าน ถ.เจริญลาภ หรือ น.ส.รัตนาภรณ์ เวชสวรรค์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่ “ป.เจริญชัยไก่ตอน” ย่าน ถ.ประชาราษฎร์ ห้วยขวาง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน…
อยากให้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง เร่งรัดดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว ความล่าช้าของระบบราชการ อาจทำลายโอกาสของผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเรื่องยอดขายและรายได้ จากมาตรการและนโยบายของรัฐก่อนหน้านี้
สอดรับกับแนวคิด ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ต่างจับจ้องมาตรการรัฐ มาตั้งแต่ช่วงแรกที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว พวกเขาเห็นว่ามาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาโควิดฯและจากมาตรการของรัฐ
มีข้อเสนอแทบจะในทุกเวทีการประชุมร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ถึงแนวคิดการนำธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เข้าไปอยู่ในโครงการคนละครึ่ง แต่ภาครัฐไม่เคยตอบสนอง!!!
กระทั่ง วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ที่จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดฯ
ภาพโครงการคนละครึ่งกับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ จึงเริ่มเด่นชัด และจะยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ได้หารือกับตัวแทนผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ แล้ว
“เราเฝ้าติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยหากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถเข้าร่วมได้ เราก็พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และพร้อมให้ภาครัฐตรวจสอบตรวจสอบความโปร่งใส” ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผอ.ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย ระบุ ก่อนจะย้ำว่า
ในทางปฏิบัติ หากภาครัฐปลดล็อกให้มีการใช้จ่ายเงิน (สิทธิ) ในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ แกร็บก็พร้อมร่วมหารือในรายละเอียดกับธนาคารกรุงไทย ที่ดูแลแอปฯเป๋าตัง ถุงเงิน และระบบการชำระเงินในโอกาสต่อไป
ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หากแต่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้บริโภคและร้านอาหาร รวมถึงระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะกระเตื้องตามกันไป
อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่ต่างกัน นั่นคือ ค่าธรรมเนียม หรือ Gross Profit (GP) ที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ คิดกับลูกค้า และเป็น “โฆษกกระทรวงการคลัง” ที่บอกเองว่า…
“สศค.กำลังพิจารณาความเหมาะสม เพื่อหารือกับผู้ประกอบการฯ ถึงโอกาสจะปรับลดค่า GP เพราะอยากเห็นการมีส่วนร่วมของฟู้ดเดลิเวอรรี่ต่อประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดฯ”
กระนั้น ข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังควรรู้ ก็คือ…ที่ว่า ค่า GP ไม่ได้มีแค่ “กำไร” หากมีเรื่องของการโปรโมทสินค้าและบริการ รวมถึงการกระตุ้นยอดขาย ทั้งของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และร้านค้าสมาชิกฯ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางด้านยอดขายให้แก่ร้านค้าฯ
ทำให้เรื่องนี้…อาจต้องคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ น.ส.กุลยา จะหยิบเรื่องยกที่ ผู้ประกอบการรายหนึ่ง (โรบินฮู้ด) ออกโปรโมชั่น “ไม่เก็บค่าขนส่งลูกค้า” กระนั้น หากเทียบกับจำนวนออเดอร์ที่มีแต่ละวัน มากนับหมื่นๆ ออเดอร์ กับจำนวนไรเดอร์ที่ผู้ประกอบการรายนี้มี…สัดส่วนห่างกันหลายเท่าตัว
ที่สุด! ผู้ประกอบการรายที่ว่านี้ ก็ไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐรับรู้ แต่อาจมองไม่เห็นปัญหาและโอกาส นั่นคือ ปัจจุบัน มีไรเดอร์จากทุกผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ทุกแห่งรวมกัน มากราว 200,000 คน แต่ละคน…มีรายได้หลักจากการให้บริการ เฉลี่ยวันละ 1,000 – 1,500 บาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3-5 เท่าตัว
จึงไม่น่าแปลกใจ เหตุใด? ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ จะเติบโตไปพร้อมๆ กับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร
หากดูจาก ฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยความสำเร็จของโครงการ/มาตรการของรัฐ ในช่วงที่ผู้คนยังต้องผจญกับปัญหาโควิดฯ เห็นได้ชัด! ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ ต่างได้รับการตอบรับจากประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปฯเป๋าตัง เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะ โครงการคนละครึ่ง ที่วันนี้…ขยายไปเป็นระยะที่ 3 แล้ว และจาก 2 ระยะที่ผ่านมา พบว่า…ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ และยอดเงินค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นเป็นในอัตราที่สูง
ลงลึกไปดูตัวเลข เมื่อปิดโครงการในระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 พบยอดการใช้จ่ายตลลดโครงการรวมกันมากถึง 102,065 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 52,251 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 49,814 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 14,793,502 คน จากเป้าหมาย 15 ล้านคน
และระยะ 3 ที่อยู่ในช่วงของการดำเนินการช่วงแรก (1 ก.ค.- 30 ก.ย.) พบว่า…ณ กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 26 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิสะสมมากกว่า 20 ล้านคน และมียอดเงินใช้จ่ายสะสมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากภาครัฐและกระทรวงการคลัง จะเปิดให้มีการใช้จ่ายสิทธิ (เงิน) ในโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ แล้ว เชื่อว่า… (1) มูลค่าการใช้จ่ายในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่ม น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่ๆ
(2) ธุรกิจร้านอาหารที่ซบเซา อันเป็นผลพวงจาก นโยบาย/มาตรการ “ล็อกดาวน์” ของภาครัฐ กระทั่ง ยอดขายหายไปมากกว่า30-40% ก็น่าจะกลับมากระเตื้องขึ้นได้บ้าง
(3) ประชาชน ในฐานะ “ผู้บริโภค” และถือสิทธิในโครการคนละครึ่ง ที่ต้องหยุดการใช้จ่ายชั่วคราว เพราะจากนโยบาย/มาตรการของรัฐ และความกังวลใจกับปัญหาโควิดฯ จนไม่อยากออกนอกบ้าน ก็จะกลับมาสิทธิ “โคเพย์” ผ่านแอปฯฯฟู้ดเดลิเวอรี่
ขณะที่ (4) รายได้ของไรเดอร์ และผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เพิ่มขึ้น! ย่อมมีส่วน (5) กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอย่างไม่ต้องสงสัย?
วิน-วิน-วิน-วิน-วิน…x5 เด้ง! เสียขนาดนี้…คนกุมชะตาเศรษฐกิจของประเทศ คงจะไม่มองข้ามผ่านเลยไปอย่างแน่นอน
มองเห็นแล้ว…ก็ควรจะลดขั้นตอนและกระบวนการที่ไม่จำเป็นในระบบราชการออกไปเสียบ้าง เพื่อให้โปรเจ็กต์ดีๆ อย่างนี้…เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไร้ข้อจำกัด.
///////////////////