เช็คด่วน! ค่าบริการรถผ่านแอปฯ หลังเผยแพร่ในราชกิจจาฯ
เว็บไซต์ราชกิจจา เผยแพร่กฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯแล้ว เผย! ใช้สีและป้ายดำ (เดิม) ได้เลย แต่ต้องตรวจสภาพรถและติดตั้งอุปกรณ์ที่ขนส่งทางบกกำหนด ส่วนค่าบริการ คิด 2 เด้ง! ค่าเรียก 50 บาท บวก ค่าโดยสาร 2 กม.แรก สูงสุดไม่เกิน 50 บาท กม.ต่อไปคิด 12 บาท/กม. กรณีรถติด คิดนาทีละ 3บาท แต่ไม่รวมค่าบริการอื่น เป็นอย่างไร? ลองเช็คดูเลย!
ที่สุด! ชัยชนะตกเป็นของประชาชน…คนโดยสารรถแท็กซี่! ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่กฎกระทรวง รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อคืนวันที่ 23 มิ.ย.2564
เว็บไซต์ AEWC10NEWS ขอสรุปประเด็นสาระสำคัญ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่าน พร้อมนำเอกสารภาพประกาศดังกล่าว (ลงนามโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา) มาประกอบเนื้อหารายงานชิ้นนี้…
สรุปความว่า…
กฎกระทรวงฯข้างต้น ให้คำนิยามของ “รถยนต์รับจ้าง” คือ รถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน และ “รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง รถยนต์รับจ้างที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็นประเภทเป็น “รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์”
กำหนดให้มี 3 ขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ โดยรับจดทะเบียนได้แค่ “คนละหนึ่งคัน”
ทั้งนี้ รถที่จะนำมาจดทะเบียนฯ ต้องมีประตูรถไม่น้อยกว่า 4 บาน และต้องเป็นรถเก๋งสองตอนขึ้นไปจนถึงรถเก๋งสามตอน, รถยนต์นั่งสามตอน หรือรถยนต์ลักษณะอื่นที่อธิบดี (กรมขนส่งทางบก) กำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
ต้องเป็นรถที่มี…กำลังเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ดังนี้ หากเป็น รถยนต์ขนาดเล็ก กำลังขับเคลื่อน 50 ถึงไม่เกิน 90 กิโลวัตต์, ขนาดกลาง 90 ถึงไม่เกิน 120 กิโลวัตต์ และ ขนาดใหญ่ 120 กิโลวัตต์ขึ้นไป
กรณีมอเตอร์ไฟฟ้า กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.
ต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสารที่กรมฯกำหนด รวมถึง ระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ…รถยนต์และคนขับฯ คิดค่าโดยสารล่วงหน้า ระบบติดตามตัวรถ ตรวจสอบเวลาและสถานที่ส่ง ระบบแจ้งร้องเรียน ทั้งนี้ มูลข้างต้น จะต้องเก็บไว้อย่างน้อย 1 เดือน
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวทำนองว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะให้ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ ส่งรายงานข้อมูลรถยนต์ คนขับและผู้โดยสารมายังกรมฯ แบบ “เรียลไทม์” ตลอด 24 ชม.และส่งทุกวัน
แต่ถูกทักท้วง กระทั่ง ต้องยกแนวคิดดังกล่าว กลายเป็น…สามารถเรียกตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังภายใน 1 เดือน
ลดประเด็นทักท้วง ที่อาจกลายเป็นการคัดค้านไปได้ ชะงักนัก!
ที่สำคัญ ประกาศกระทรวงฯดังกล่าว ค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของ/ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ กล่าวคือ…ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถของเดิม (ป้ายดำ / รถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง) ได้ แต่ต้องติดเครื่องหมายแสดงความเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ
อีกทั้งยังผ่อนปรนให้ใช้…สีรถเดิม (ก่อนจดทะเบียน) ได้
แน่นอนว่า…รถยนต์นั้น จะต้องผ่านการตรวจสภาพ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดย กำหนดอายุการใช้งานของรถนาน 9 ปี
และที่เป็น “ไฮไลท์” ของประกาศกระทรวงฯฉบับนี้ นั่นคือ อัตราค่าบริการ/ค่าโดยสาร ที่ให้อำนาจรัฐมนตรี กำหนดทั้งในส่วนที่เป็น…ค่าโดยสารและค่าบริการอื่นๆ
ค่าโดยสาร 2 กม.แรกคิดสูงสุดไม่เกิน 50 บาท และกม.ต่อไป สูงสุดคิดกม.ละ ไม่เกิน 12 บาท หากกรณีรถติด คิดสูงสุดไม่เกินนาทีละ 3 บาท
ค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น ตามที่รัฐมนตรีกำหนด แยกเป็น ค่าโดยสาร…หากเป็นการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบแอปฯ คิดค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากนั้น คิดค่าโดยสาร 2 กม.แรก สูงสุดคิดไม่เกิน 200 บาท และกม.ต่อไป สูงสุดคิด กม.ละ ไม่เกิน 30 บาท หากกรณีรถติด คิดสูงสุดไม่เกินนาทีละ 10 บาท
ค่าบริการอื่น…เรียกรถผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบแอปฯ สูงสุดคิดไม่เกิน 100 บาท และค่าบริการเพิ่มฯ คิดสูงสุดไม่เกิน 200 บาท
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกจะให้รายละเอียดของราคาทั้งค่าโดยสารและค่าบริการอื่นๆ อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ ทว่าทุกประเภท…การเรียกเก็บค่าโดยสารฯ จะต้องเป็นไปตามจำนวนเงินที่ระบบคำนวณและปรากฏอยู่บนหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร ตามที่ ขบ.กำหนดไว้ เท่านั้น
ถึงตรงนี้…ประชาชน ผู้ใช้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ จะเป็น “คนตัดสินใจ” เองว่า…พวกเขาพร้อมจ่ายแพงอีกนิด เพื่อแลกกับความสะดวก ปลอดภัย ตรวจสอบได้ เป็นรถที่สะอาด และมีคนขับรถฯที่พูดจาสุภาพ หรือไม่?
ภาวะ…การถูกปฏิเสธรับส่งฯ จากผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งดีๆ ข้างต้นจะหมดไปในฉับพลันทันที!
นี่จึงเป็น…ชัยชนะของประชาชน คนโดยสารรถแท็กซี่! ที่เปลี่ยนไปเป็น…รถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ อย่างแท้ทรู!!!.