สลากฯดันจุดตรึงราคาฯขายทั่วไทย แก้ปมหวยรัฐโคตรแพง
บอร์ดสลากฯ เร่งโปรโมทโครงการ “จุดตรึงราคาหวยรัฐ” หรือ “คนขายซื่อสัตย์” หลังได้ 51 จุดนำร่องในเขตกรุงเทพฯและเมืองนนท์ พร้อมเปิดขาย 19 มิ.ย. รองรับงวด 1 ก.ค.นี้ ด้าน “โฆษกบอร์ดสลากฯ” มั่นใจ แผนกระจายจุดขายสลากคุมราคาไปได้ทั่วประเทศ หวังแก้ปมหวยรัฐแพง โดยไม่ต้องออกหวยออนไลน์ ส่วนขายสลากฯผ่านแอปพลิเคชั่น ยืนยันไม่ทำแน่!
ปัญหาโลกแตก! สำหรับ การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล “เกินราคา” ในประเทศไทย เสมือนหนึ่ง ภาครัฐจะ “ไร้หนทาง” ป้องกันและแก้ไขปัญหา นี้…
นั่นก็แตะไม่ได้? นี่ก็ห้ามแตะ?…เพราะมี “ผู้ค้ารายย่อย” กลุ่มคนจนและผู้พิการ นับแสนชีวิต ที่พร้อมจะถูก “นายทุนพ่อค้าหวยคนกลาง” นำมาเป็น “ตัวประกัน” ต่อรองกับอำนาจรัฐ
คนไทยอีกกว่า 60 ล้านคน จึงต้องบริโภค “หวยรัฐโคตรแพง!” กันต่อไป และเป็นมาอย่างยาวนานต่อเนื่องหลายสิบปี จนกระทั่งวันนี้…
ทว่า “นายทุนพ่อค้าหวยคนกลาง” และเครือข่าย “บนยันล่าง” อิ่มหมีพลีมัน ฟันกำไรส่วนต่างจนพุ่งปลิ้น!
ล่าสุด เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS มีโอกาสสอบทานแนวคิดและหนทางการแก้ไขปัญหาการขายสลากฯเกินราคา จาก ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ลองไปฟังคำตอบที่ได้รับ…
โฆษกบอร์ดสลากกินแบ่งฯ บอกว่า การออกสลากออนไลน์เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการขยานสลากฯเกินราคา แต่เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่กฎหมาย (พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2562) ระบุชัดว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน ก่อนนำเสนอ รมว.คลังพิจารณา ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะส่งต่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบเสียก่อน จึงจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้
“บอร์ดสลากกินแบ่งฯ รู้แล้วว่ามีผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรบ้างที่เตรียมจะออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขายสลากฯเกินราคา แต่ก็อยากความเห็นของประชาชนจากทุกภาค ทั้งประเทศ แต่เพราะติดขัดปัญหาโควิดฯ จึงต้องนำแนวทางสร้าง “จุดตรึงราคา” มาใช้แก้ปัญหาไปก่อน” โฆษกบอร์ดสลากกินแบ่งฯ ระบุ
สำหรับ “จุดตรึงราคา” หรือ GLO Official Sellers เป็นแนวคิดที่สำนักงานสลากฯ หวังใช้แนวทาง “คั่นเวลา” ระหว่างที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังไม่สามารถเข็นออกมาได้ โดยการสร้างเครือข่ายและจุดจำหน่ายฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อสลากได้ตามราคา 80 บาท
เริ่มนำร่องในพื้นที่ กทม. 46 เขต (จุดขาย) และ จ.นนทบุรีอีก 5 อำเภอ (จุดขาย) รวมเป็น 51 จุดขาย และจะเริ่มขายจริงในวันที่ 19 มิ.ย.64 รองรับการออกสลากงวดประจำวันที่ 1 ก.ค.นี้
“ตอนนี้ สำนักงานสลากฯ ได้ผู้ร่วมอุดมการณ์ที่เข้ามาสมัครครบทุกเขตและทุกอำเภอ ในพื้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรี รวมกว่า 600 ราย แต่ผ่านการคัดกรองฯจริงๆ เพียง 51 ราย (จุดขาย) ซึ่งเราเรียกกันภายในว่าเป็นโครงการ “คนขายซื้อสัตย์” เพราะได้ตัดวงจรการขายที่ทำกำไรสูงเกินควรออกไป และที่ต้องนำร่องกับ 2 จังหวัดนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ สามารถจะควบคุมดูแล และประเมินผลโครงการฯได้ง่าย หากประสบผลสำเร็จ ก็จะขยาย “จุดตรึงราคา” ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแผนเดิมน่าจะเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่อาจจะเร็วกว่านี้ได้” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ย้ำ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่บอร์ดสลากกินแบ่งฯยังรู้สึกเป็นห่วงคือ เงื่อนไขที่เข้มงวดของการเข้าร่วมโครงการฯ นอกจากกำหนดราคาขายที่ใบละ 80 บาท และผู้ขายฯต้องไม่ติดแบ็กลิสต์แล้ว ยังจะต้องมีสถานที่ตั้งร้านค้าถาวร ตกแต่งร้านและสวมเสื้อที่จัดเตรียมฯไว้ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกการขายผ่านแอปฯเป๋าตัง (ไม่มีการขายเงินสด) และประทับตรายางที่สำนักงานสลากฯมอบให้
รวมถึงจะต้องขายสลากฯจริงแก่ประชาชน โดยห้ามขายช่วงหรือขายต่อให้ผู้ค้ารายอื่นอย่างเด็ดขาด! อีกทั้ง ยังห้ามนำสลากฯจากภายนอกมาขายในโครงการฯ หากพบว่ามีการขายต่อหรือขายช่วง จะถูกขึ้นแบ็กลิสต์และตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตทันที!
ตรงนี้…อาจทำให้ผู้ค้าสลากฯทั้งที่เป็นรายใหญ่ กลาง เล็ก และรายย่อยในระบบเกือบ 2 แสนราย ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ หรือร่วมโครงการฯไม่มากนัก โดยจะขอทดสอบและดูความเป็นไปได้ของโครงการฯ ซึ่งหากผู้ค้ารายเดิมที่ขึ้นทะเบียนฯในปัจจุบัน รวมถึงสมาชิกขององค์กรการกุศุล ไม่สนใจหรือให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯน้อยเกินไป อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ผู้ค้ารายใหม่เข้าร่วมโครงการในช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม บอร์ดสลากกินแบ่งฯ ยังเชื่อว่าโครงการฯจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ หากโครงการ “คนขายซื้อสัตย์” (“จุดตรึงราคา” หรือ GLO Official Sellers) เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะมีผู้ค้าฯเข้าร่วมโครงการฯจำนวนมาก และมีจุดจำหน่ายกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในทุกชุมชนทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่มีร้านค้าสะดวกซื้อแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เลยก็ได้ โดยจะประเมินผลทั่วประเทศในช่วง 1 ปีของการเปิดโครงการฯนี้ และคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการฯเป็นจำนวนมาก และสร้างกลไกราคาทำให้สลากฯมีราคาถูกลง
สำหรับ โครงการ “จุดตรึงราคา” จะเริ่มจำหน่ายสลากฯครั้งแรกในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ โฆษกบอร์ดสลากกินแบ่ง ย้ำว่า สำนักงานสลากฯ ได้เตรียมแผนโปรโมทโครงการฯ พร้อมจัดทำแผนงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ก่อนจะถึงวันจำหน่ายจริง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงตัวโครงการฯ และมีช่องทางซื้อสลากฯในราคาควบคุมฯ
โดยผู้ค้าฯแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับสลากฯ รายละ 25 เล่ม หรือ 2,500 ฉบับ (ใบ) ต่องวด (50 เล่มหรือ 5,000 ฉบับ (ใบ) ต่อเดือน) ในราคาต้นทุนที่ฉบับละ 70.40 บาท สำหรับขายต่อที่ 80 บาท ซึ่งหักลบต้นทุนจัดซื้อและอื่นๆ แล้ว ก็ยังพอเหลืองกำไรในแต่ละงวดในทุกๆ เดือน ตกราว 22,500 บาทต่องวด หรือ 45,000 ต่อเดือน คิดว่าน่าจะจูงใจได้มากพอ
ส่วนประเด็น การขายสลากผ่านแอปพลิเชคั่น คอทคอมต่างๆ ที่กำลังตกเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในปัจจุบัน โฆษกบอร์ดสลากกินแบ่งฯยืนยันว่า การออกผลิตภัณฑ์จะต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของประชาชน เสนอ รมว.คลัง และให้ ครม.พิจารณา ดังที่กล่าวในตอนต้น อีกส่วนหนึ่ง สำนักงานสลากฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังประเมินกันว่า “สามารถทำได้หรือไม่?” ซึ่งยังก่ำกึ่งว่าทำได้หรือทำไม่ได้ นั่นจึงทำให้สำนักงานสลากฯ ไม่คิดจะดำเนินการขายสลากผ่านแอปพลิเคชั่น
ส่วนที่เอกชนทำได้ มี 2 ประเด็น ในแง่ของ “เจ้าของแฟลตฟอร์ม” นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่า “ทำไม่ได้” เมื่อเกิดเหตุการณ์นำสลากฯไปขายในแฟลตฟอร์ม เอกชนอ้างว่าไม่เกี่ยวกับเขา เป็นเรื่องของลูกค้าที่ซื้อพื้นที่โฆษณาดำเนินการเอง โดยที่ “เจ้าของแฟลตฟอร์ม” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานสลากฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้แสดงความจำนงไปยัง “เจ้าของแฟลตฟอร์ม” ว่า หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดกับขบวนขายสลากฯผ่านแอปพลิเคชั่น และอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาได้.