หวั่น “2 กม.ใหม่” ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทุกฝ่ายจ้องค้าน!
“นักวิชาการ มข.” ห่วงคนไทยถูกละเมิด “ชีวิตส่วนตัว” จาก 2 กม.ใหม่ของรัฐ “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ – พ.ร.บ.ไซเบอร์” ชี้! ปม ขสทบ. บีบ “เรียกรถผ่านแอปฯ – แท็กซี่” ต้องนำระบบ Real Time DATA Sharing เกาะติดวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย อาจเพิ่มต้นทุนและค่าโดยสาร แนะเปิดกว้างกำหนดราคาค่าโดยสาร ห่วงกลุ่มแท็กซี่สูญพันธุ์ ด้าน นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะ บ่นอุบ! กระทบแท็กซี่แน่ พร้อมค้านในทุกเวทีร่วม ขนทบ.
ภัยความตายจากมหัตภัยโควิด-19 และความไม่พร้อมในเชิงการบริหารจัดการเพื่อจัดหาวัคซีนต่อสู้กับไวรัสโควิดฯ ของรัฐบาล
กลบปัญหาอื่นๆ เสียสนิท!
มีคนไทยน้อยนักจะล่วงรู้ถึงอันตรายจาก 2 กฎหมายใหม่ ที่รัฐบาลเตรียมเข็นออกมาในเร็วๆ นี้ ว่ากันว่า…พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ รวมถึงกฎหมายลูกอื่นๆ ที่จะมีตามมาอีกหลายฉบับ
หากมีการประกาศใช้จริง! อาจส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงวิถีชีวิตคนไทย โดยเฉพาะการสูญเสีย “สิทธิส่วนบุคคล” จากการถูกละเมิด ได้
ระหว่างที่กฎหมาย 2 ฉบับยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฯนั้น จึงพอมีโอกาสที่เสียงของประชาชนจะช่วยปรับลดความรุนแรง เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าว เข้าข่าย…ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนไทย
ล่าสุด นักวิชาการและอาจารย์ด้านกฎหมาย ผู้เกาะติดเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล (Privacy) มายาวนาน อย่าง… นายแทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลใจ หากรัฐบาลประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้…
นายแทนรัฐ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นว่า…กฎหมายดังกล่าว มีประเด็นให้ต้องขบคิด เพราะไปบังคับให้หน่วยงานหรือองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีอยู่เดิมในตลาด หรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต้องดูแลและรักษาข้อมูลของประชาชน หากปล่อยให้มีการนำข้อมูลใดๆ ออกไปใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล จะมีความผิดทางอาญาที่รุนแรงและโทษปรับที่สูงมาก ขณะที่ ประชาชนก็ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวจากกฎหมายดังกล่าว เพราะภาครัฐจะคอยสอดส่องพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
“หากเป็น โลกเสรี ผู้คนจะตื่นตัวและตระหนักต่อการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ถึงขั้นฟ้องร้องเอาผิดและเรียกเงินชดใช้ค่าความเสียหายเป็นจำนวนที่สูงมากจากหน่วยงานหรือองค์กรของภาครัฐและเอกชน แต่กับประเทศที่มี อำนาจรัฐรวมศูนย์ ผู้คนที่นั่นอาจคุ้นชินกับการถูกเฝ้าจับตามองจากหน่วยงานของรัฐ แลกกับสิทธิพิเศษบางอย่าง ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ต้องมาดูกันว่าเราควรจะอยู่ตรงจุดไหน เพราะแม้เรื่องความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น แต่ภาครัฐจะต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนด้วย” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มข. ระบุ
นอกจากภาพใหญ่ ปัญหาและผลกระทบจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับข้างต้นแล้ว ภาพที่เล็กลงมา และเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ก็คือ การออกกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสารรถแท็กซี่และรถรับจ้างทางเลือกผ่านแอปพลิเคชันตัวใหม่ ที่กรมการขนส่งทางบก (ขสทบ.) กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมประกาศใช้ โดยบังคับให้ผู้ให้บริการฯ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชั่นเรียกรถฯ หรือผู้ขับขี่รถฯ จะต้องส่งข้อมูลการใช้งานของรถในลักษณะ Real Time DATA Sharing มายังกรมการขนส่งทางบก
“ประเด็นคือ มีความจำเป็นแค่ไหน? ที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากถึงระดับนี้ หากอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน ก็ควรต้องมีกระบวนการในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลหรือไม่? เช่น จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน โดยหากมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม หรือภัยต่อความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐก็สามารถขอข้อมูลย้อนหลัง ได้อยู่แล้ว” นายแทนรัฐ ย้ำและว่า
การออกกฎหมายในลักษณะนี้ ไม่เพียงภาครัฐจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้โดยสารฯ แต่ยังอาจละเมิดความมั่นคงทางธุรกิจของภาคเอกชน เพราะการทำ “ปลั๊กอิน” ดูดข้อมูลที่ภาคเอกชนจัดเก็บไว้เพื่อวางแผนงานทางธุรกิจและการตลาด อาจหลุดไปถึงคู่แข่งทางธุรกิจได้ อีกทั้ง ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการส่งข้อมูลการใช้งานของรถในลักษณะ Real Time DATA Sharing อาจถูกผลักให้เป็นภาระของประชาชน และทำให้ค่าโดยสารเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ แนวคิดที่ภาครัฐจะกำหนดอัตราค่าโดยสารฯให้เท่ากัน ระหว่างรถรับจ้างทางเลือกผ่านแอปฯ และรถแท็กซี่ อาจทำให้รถแท็กซี่อยู่ได้ยาก เนื่องจากมาตรฐานคุณภาพและบริการที่ต่ำกว่า ทำให้ประชาชนหันไปเลือกใช้บริการของรถรับจ้างทางเลือกผ่านแอปฯ
“บางครั้งผู้โดยสาร โดยเฉพาะ คนระดับกลางขึ้นบน หรือแม้แต่ชาวต่างชาติในประเทศไทย อาจต้องการรถหรูจากค่ายยุโรป หรือผู้ขับขี่ที่พูดภาษาต่างประเทศได้ โดยที่เขาพร้อมจะจ่ายแพงกว่า ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าโดยสารให้อยู่ในระดับเดียวกัน อาจสร้างปัญหาต่อทุกฝ่าย ทางออกของเรื่องนี้ ควรที่ภาครัฐจะเปิดช่อง สร้างระดับราคาค่าโดยสารที่แตกต่างกัน เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายได้ตัดสินใจเลือกใช้บริการ” นายแทนรัฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรับรู้ของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง กับกฎหมายในลักษณะนี้ยังมีน้อยมาก ประกอบกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกความสนใจของสังคมไทยพุ่งเป้าไปยังปัญหาโรคติดเชื้อฯกันหมด ยิ่งทำให้เสียงของประชาชนที่จะมีต่อกฎหมายข้างต้น ไม่มากพอที่จะทำให้ภาครัฐหันมาสนใจในข้อกังวลเหล่านี้ได้
ด้าน นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย กล่าวว่า สมาคมฯไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของขสทบ.ในการบังคับให้ต้องส่งข้อมูลการใช้งานของรถในลักษณะ Real Time ทั้งนี้ อยากให้ดูตัวอย่างของประเทศที่ใช้แอปฯในลักษณะเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้การจัดส่งข้อมูลผู้โดยสารแก่ภาครัฐเพียงเดือนละครั้ง
จากนี้ไป สมาคมฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมกับ ขสทบ.ในการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงฯข้างต้น พร้อมจะใช้เวทีนี้ เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเป็นภาระทั้งด้านความรับผิดชอบต่อข้อมูลฯและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ขับขี่ฯ ซึ่งหากเกิดกรณีอาชญากรรมหรือเหตุไม่พึงประสงค์ใดๆ ก็ตาม ภาครัฐสามารถขอข้อมูลจากผู้ขับขี่ฯเป็นรายบุคคลได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบังคับให้จัดส่งข้อมูลในลักษณะ Real Time แต่อย่างใด.