จริงหรือ?! 3 ปัจจัย หนุน “โรดแมป” ยานยนต์ไฟฟ้า
ผลสำรวจได้ชี้ให้เห็นว่ามี 3 ปัจจัยหลัก สนับสนุน โรดแมป ยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมาย
และในอีก 4 ปีข้างหน้า ตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้งอจับตา เพราะ จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อ 20 พ.ค.2564 มีมติกำหนดให้ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป้าหมายการใช้ในประเทศ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงพิจารณาแนวทางส่งเสริม EV ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2573
รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Change จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง
ล่าสุด บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด หรือ SHARGE ได้สำรวจข้อมูลของ SHARGE ตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(EV Charging) พบว่า ปัจจุบันเป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจไม่ต่างจากตลาดของรถ EV
นั่นเป็นเพราะ อุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้ใช้รถ EV เกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV มากขึ้น ซึ่ง ปัจจุบันตลาด EV Charging ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2,100 หัวชาร์จ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างหันมาจับตลาด EV Charging มากขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ว่าภายใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นไปแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน
ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนให้การเติบโตของตลาด EV Charging ในประเทศไทย ให้เป็นไปตามโรดแมปของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้นั้น ยังพบว่า มาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก จากนโยบายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์และรัฐบาลมีแผนแม่บทที่ชัดเจนในการพัฒนารถ EV โดยเฉพาะการตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV
ซึ่ง SHARGE ระบุว่า ปัจจัยนี้จะสนับสนุนให้รถ EV ในประเทศไทยมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายจับมือกับภาคเอกชนในภาคบริการรถขนส่งสาธารณะให้เปลี่ยนมาใช้รถ EV แทนรถขนส่งสาธารณะเดิมที่ปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมาก
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานของรถ EV เช่น สถานีชาร์จ และการสนับสนุนไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ใช้รถ EV เข้าถึงพลังงานที่ราคาถูกลง ตลอดจนสนับสนุนให้ตลาด EV Charging ทั้งในรูปแบบสถานีชาร์จและการชาร์จตามบ้านได้รับอานิสงส์โดยตรง
ประการที่ 2 ค่ายรถยนต์หันมาผลิตรถ EV ในตลาดรถยนต์ราคาประหยัดที่ราคาจับต้องง่ายมากขึ้น
โดยปัจจุบันเริ่มเห็นราคาจำหน่ายในประเทศไทยในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในหลายรุ่น โดยเฉพาะรถยนต์นำเข้าจากประเทศจีนที่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทำให้ผู้ใช้รถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยนี้ถูกมองว่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของ ตลาด EV Charging ในรูปแบบการชาร์จตามบ้านมากที่สุด เนื่องจากผู้ใช้รถขนาดเล็กในราคาประหยัดนั้นจะเน้นการชาร์จตามบ้านที่มีต้นทุนพลังงานถูกกว่า
ประการที่ 3 นวัตกรรมการชาร์จที่รวดเร็วขึ้นแต่วิ่งได้ไกลขึ้น ซึ่งจากการแข่งขันทางเทคโนโลยีของค่ายรถที่ผลิตรถ EV รุ่นใหม่ให้ชาร์จเร็วได้ภายในระยะเวลาสั้นลงและขับไปได้ไกลขึ้น
การพัฒนานี้จะตอบสนองให้ผู้ใช้รถ EV มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมที่จะขับในระยะทางใกล้ๆ เปลี่ยนเป็นการขับได้ไกลขึ้นและเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยรถ EV มากขึ้น
นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด (SHARGE) บอกว่า จากการพัฒนานี้จะสนับสนุนการเปิดสถานีบริการชาร์จเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งในอนาคตตลาด EV Charging จะเกิดการแข่งขันสูงภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และความต้องการเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตามมา ย่อมจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องชาร์จในราคายุติธรรม
ปัจจุบันราคาของอุปกรณ์การชาร์จรถ EV ถือว่าปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกับราคาของรถ EV จากช่วงแรกๆ ที่มีการนำเข้า ราคาจะอยู่ในหลักแสนบาทขึ้นไป แต่ในปัจจุบันราคาได้ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก โดยเริ่มต้นที่ 40,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่มาสนับสนุนให้ผู้ใช้รถ EV ในประเทศเพิ่มมากขึ้น