ปิดข่าวทำไม? ที่สุด! ก็ต้องกู้เงินเพิ่ม
ถังไม่แตก! แต่เงินกู้ 1 ล้านล้าน…ใกล้หมดคลัง จำเป็นก็ต้องกู้เพิ่ม ทั้งสู้โควิดฯที่กำลังระบาดแรง ไหนจะเยียวยาชีวิตคน-ธุรกิจไทย แล้วยังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีก ไม่เห็นต้องปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเลย! ว่าแต่กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน พอไหม? ต้องแก้ กม. ขยายเพดานกู้ 60% ของจีดีพีหรือเปล่า? น่าที่รัฐบาลควรบอกคนไทย
ไม่รู้จะปิดกั้นข่าวสารข้อมูลกันทำไม?
สังคมไทยต่างรู้กันดี…สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ต่อเนื่องระลอก 3 นับแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน…กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน? กระทบรายได้และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไร? กระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีระดับใด?
เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท…ยังไงก็ไม่พอเพียงกับการนำไปป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ไม่เพียงต่อการจะกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฯลฯ
การจัดเก็บรายได้ภาษี โดยเฉพาะ ปี 2563 ที่ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 3.43 แสนล้านบาท (-12.5%) และปี 2564 ที่หลุดเป้าแน่นอน! แต่จะหลุดมากกว่าปีก่อนหรือไม่? ยังต้องลุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
หากการฉีดวัคซีนต่อต้านไวรัสโควิดฯ เข้าเป้า! ทั้งใน เชิงปริมาณ คือ ฉีดคนไทยได้ครบทั่วประเทศ และ เชิงคุณภาพ คือ ผลลัพธ์ออกมาดี
ย่อมส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการเปิดประเทศ…ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โอกาสจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทย…ย่อมมีสูง!
แต่ระหว่างนี้…เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใกล้หมด! เหลือจริงแค่…หมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่จัดเก็บรายได้ภาษี ก็ไม่เข้าเป้า แล้วยังไม่ถึงเวลาที่จะมา เหลือเวลาอีกกว่า 3 เดือน ถึงจะเริ่มต้นใช้เงินงบประมาณปี 2565 (1 กันยายน 2564)
ดูแล้ว…รัฐบาลไทยจำต้องกู้เงินชัวร์ ส่วนจะกู้ในหรือนอกประเทศ! นั่นเรื่องนึง…แต่ก็ต้องกู้แน่ๆ
คนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนทั้งในและนอกตลาดหุ้นฯ ต่างล่วงรู้กันดี รอแค่เพียงว่า…รัฐบาลจะกู้เท่าใด? เมื่อใด? และอย่างไร?
ทว่า…ข้อมูลการกู้หรือไม่กู้เงิน กลับถูกปกปิด! จากภาครัฐ แม้จะขัดหลักรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 ที่เขียนไว้ชัด…
“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น…”
การรับรู้ข้อมูลที่ว่า…รัฐบาลจะกู้เงินก้อนใหม่เพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับไวรัสโควิดฯ ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ…นำไปแจกจ่าย “ต่อลมหายใจ” กับประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและเล็กขึ้นไป
มันจะกระทบความมั่นคงของรัฐ หรือกระทบความปลอดภัยของประชาชนอย่างไร?
ในเมื่อ สถานการณ์มันบ่งชี้ชัดอยู่แล้วว่า…ถึงอย่างไร? รัฐบาลจะต้องกู้เงินมาใช้แน่ๆ และก็เป็น…กลุ่มสื่อกระแสหลัก ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ขุดคุ้ยจนล่วงรู้ว่า..
คราวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็น…กระทรวงการคลัง ได้เสนอ ครม.ขออนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินเพิ่มจากวงเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดฯ
จัดทำกันเป็น “วาระลับที่สุด” (เอกสารริมแดง) และ ที่ประชุม ครม. ก็ให้ความเห็นชอบ กันไปแล้ว…
กลางดึกของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม จึงเกิดกระแสข่าวแพร่สะพัด และมีการตีพิมพ์ตามหน้าสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น
ข่าวลือ…ในเมืองไทย คือ ข่าวจริง…ที่ยังไม่เป็นข่าว!!!
ที่สุด! ข่าวที่กระทรวงการคลัง เสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท ก็จะเป็นความจริงในไม่ช้า
ขึ้นกับว่า…รัฐบาลและกระทรวงการคลัง จะยอมรับและเปิดเผยความจริงเมื่อไหร่? และอย่างไร? เท่านั้น
ประเด็นสำคัญในสถานการณ์นี้ คือ…รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ควรออกมาพูดความจริงถึงเรื่องดังกล่าว และแนวทางการดำเนินงานจากนี้ไปว่าจะทำอะไร? อย่างไร? ต่อไป…
การกู้เงินรอบใหม่…กระทบกับวินัยการเงินการคลังหรือไม่? รัฐบาลและกระทรวงการคลัง มีแนวทางในการรับมืออย่างไร?
เรื่องเหล่านี้…มันควรจะปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนกระนั้นหรือ?.