โควิด! โอกาส หรือฝันร้ายของการค้าชายแดนไทย
“การกลับมาระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิดในไทย ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง ทั้งภาคการผลิต ภาคการท่องเที่ยว และภาคการใช้จ่ายที่มีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่อาจส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ควบคุม ยิ่งไปกว่านั้นการค้าชายแดนของไทยที่เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของประเทศคู่ค้าที่มีพรมแดนติดกัน”
หากติดตามสถานการณ์การส่งออกชายแดนและผ่านแดนไทยนับตั้งแต่ช่วงปลายของปี 2563 พบว่ามูลค่าการเติบโตของการส่งออกชายแดนไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ถ้าการระบาดของโควิดในระลอกใหม่มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งต่อการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่น สินค้าที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาสั้นและต้องความรวดเร็วในการขนส่งเป็นหลัก โดยในขณะนี้ ไทยยังคงมีจุดผ่านแดนที่เปิดทำการเพียงครึ่งหนึ่งของทั่วประเทศ
ปัจจุบันการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีพรมแดนติดต่อกันมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) การค้าชายแดน และ 2) การค้าผ่านแดน โดยภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยในปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก) ซึ่งแบ่งเป็นการส่งออกประมาณ 7.7 แสนล้านบาท และการนำเข้าประมาณ 5.5 แสนล้านบาท
ด้านการค้าชายแดนของไทย มีการค้าขายกันตามพรมแดนที่ติดต่อกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ และรถยนต์นั่ง เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงอื่น ๆ เทปแม่เหล็ก ผักและของปรุงแต่งฯ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สำหรับด่านการค้าสำคัญของการค้าชายแดนไทย ได้แก่ การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์) การค้าชายแดนไทย-เมียนมา (ด่านแม่สอด ด่านสังขละบุรี ด่านระนอง ด่านแม่สาย) การค้าชายแดนไทย-ลาว (ด่านหนองคาย ด่านมุกดาหาร ด่านทุ่งช้าง ด่านช่องเม็ก) การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา (ด่านอรัญประเทศ ด่านคลองใหญ่ ด่านจันทบุรี ด่านช่องจอม)
ส่วนในด้านการค้าผ่านแดนไทย เป็นการค้าในลักษณะผ่านแดนส่งไปยังประเทศที่สาม หรือจากประเทศที่สามผ่านแดนส่งกลับมายังไทย เพื่อช่วยในเรื่องระยะเวลาและต้นทุนขนส่งสินค้าในตลาดการค้าประเทศที่ใกล้เคียงกับด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยทำการค้าแบบนี้กับ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ขณะที่ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เทปแม่เหล็กจานแม่เหล็กสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องรับส่งสัญญาณฯ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ฯ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น โดยมีด่านการค้าสำคัญ ได้แก่ ด่านมุกดาหาร ด่านปาดังเบซาร์ ด่านนครพนม ด่านเชียงของ ด่านสะเดา ด่านอรัญประเทศ เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หากติดตามสถานการณ์เฉพาะด้านการส่งออกชายแดนและผ่านแดนไทย นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 (แผนภาพ) จะพบว่า ช่วงการระบาดในครั้งแรกนั้น การส่งออกโดยเฉพาะการส่งชายแดนไทยหดตัวดิ่งลงและปรับตัวอยู่ในแดนลบต่อเนื่องช่วง 5 – 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งจากการปิดพื้นที่ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ ช่วงของการระบาดระลอก 2 พบว่า แนวโน้มการส่งออกชายแดนและผ่านแดนไทยกลับเพิ่มขึ้นในทิศทางที่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากการทยอยเปิดจุดผ่อนปรนการค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าทางบก ผนวกกับการรับมือกับการแพร่ระบาดที่ทำได้ดีกว่าครั้งแรก เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนับตั้งแต่ช่วงปลายของปี 63 เป็นต้นมา กลับพบว่ามูลค่าการเติบโตของการส่งออกชายแดนไทยยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ยางพารา เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันดีเซล เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าที่มูลค่าการค้าขยายตัวได้ในระดับสูง ได้แก่ มาเลเซีย ลาว จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดในสินค้าเหล่านี้ไปสู่ประเทศดังกล่าว
อย่างไรก็ดี การกลับมาระบาดของไวรัส Covid-19 ระลอกใหม่ในไทยในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน 2564 และยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลงนั้น หากยืดเยื้อนานอาจเป็นข้อกังวลหนึ่งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย จากข้อจำกัดด่านชายแดนในบางพื้นที่ซึ่งอาจยังไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาสั้นและต้องความรวดเร็วในการขนส่งเป็นหลัก เช่น อาหาร นมสด โยเกิร์ต เป็นต้น
จากการติดตามสถานการณ์จุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้า ณ วันที่ 1 เม.ย. 64 พบว่า มีการเปิดทำการจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 47 ของจุดผ่านแดนทั่วประเทศ ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนอย่างใกล้ชิด ว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันแก้ไขและลดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมีการทยอยเปิดจุดผ่อนปรนการค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ : อ้างอิงสถิติและข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, เขียนและรวบรวมโดย
1/ ดร.ยุทธภูมิ จารุเศร์นี ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2/ นางสาวภัทราพร คุ้มสะอาด เศรษฐกรปฏิบัติการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง