เปิดไทม์ไลน์ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก?!
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ โครงการนี้ จะใม่ใช่ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไปแล้ว เพราะมีเหตุผล ร้อยแปด จำต้องเลื่อนอีกรอบ…
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ความหวัง ที่สิ้นหวัง เกษตรกรถอดใจ หลังจากที่ถูกปรับลดจำนวนการรับซื้อไฟฟ้า เหลือเพียง โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์
ที่ได้ตัดแบ่งออกเป็น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) เสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์
จะมีก็แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนท่านั้นที่ กระดี๊กระด๊า ตั้งตารอคอย จ่อเสียบเข้าระบบ รอรับทรัยพ์เหนาะๆจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าเกือบ 5 บาท/หน่วย
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ขยายเวลาเปิดรับคำเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มอีก7 วัน จากวันที่ 19 – 23 เม.ย. 2564 เป็นวันที่ 21-30 เม.ย. 2564
ปรากฏว่า…ในเขตพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้า แต่อย่างใด…
จะมีก็แต่ในพื้นที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เท่านั้น ที่มีผู้ยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 246 ราย แบ่งเป็นเชื้อเพลิง ประเภทชีวมวล จำนวน 143 ราย และประเภทก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 103 ราย
ถือว่าเป็นตัวเลข กลางๆ ไม่มาก ไม่น้อย …
แต่ก็ต้องร้องเพลงคอยกันอีกรอบ เนื่องจาก…
ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 5 พ.ค.64 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ออกไป ตามที่ กฟภ.เสนอ
จากกำหนดเดิม ที่จะประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เป็นภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2564
หรือยืดออกไปจากกำหนดเดิมอย่างน้อยอีก 1 เดือน
อันเนื่องมากจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19รอบใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรง และขยายตัวเป็นพื้นที่วงกว้างทั่วประเทศไทย
ดังนั้นเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ กฟภ. จึงเสนอ กกพ. ขอปรับเปลี่ยนระยะเวลาดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ออกไปก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) บอกว่า หลังจากกระบวนการพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าเทคนิคเสร็จสิ้นแล้ว กกพ. จะพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาด้วยวิธีการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งจะเรียงลำดับคำเสนอขอขายไฟฟ้าที่เสนออัตราส่วนลด (ร้อยละ) จากมากไปหาน้อย
โดยผู้ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าที่เสนออัตราส่วนลดมากจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าบรรจุในสายป้อน (Feeder) ที่ว่างก่อนจนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อโดยจะต้องคำนึงถึงศักยภาพระบบไฟฟ้าที่จะรองรับได้ด้วย
ซึ่งภายในวันที่ 26 ส.ค.64 กกพ. จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ทันกำหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายภายใน 120 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายใน 36 เดือน
จะมี เหตุการณ์ อะไร ที่จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ อันนี้ก็ไม่อาจจะคาดเดาได้
แต่ที่รู้ๆ เกษตรกรฐานราก เขาถอดใจไป นานแล้ว ?!