สารพัด ปม ปัญหา ปิดทาง ฮับ EV
มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ประเทศไทย จะทวงคืนตำแหน่ง ฐานการผลิตยานยนต์โลก กลับคืนมาได้ …ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย กำลังสูญเสียโอกาส หากวันนี้ไม่เร่งสะสาง ปมปัญหาที่มีอยู่
หลังจากที่ประชุม คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า
ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมในปี 2583 หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี โดยมุ่งเป้าหมายจะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ถึง 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิดในปี 2573
และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียด การจัดเตรียมความพร้อม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก่อนนำมาเสนอที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ค.64 นั้น
ทาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ได้สำรวจความคิดเห็น ผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยส่วนใหญ่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (ZEV หรือ Zero Emission Vehicle) และต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก่อนปี 2568
และเห็นว่า มาตรการของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ตามปริมาณ CO2 และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ Charging Station ให้จูงใจกับผู้ใช้งาน รวมทั้งการปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากมาตรการในเบื้องต้นที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการแล้ว นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. ยังบอกว่า ในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้มีเพียงพอและครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการซากรถยนต์และแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ
และการเตรียมการจัดหาไฟฟ้าและพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศแล้ว ภาครัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
ทั้งเรื่องการส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่ที่คุณภาพดีและมีราคาเหมาะสมภายในประเทศ การเตรียมการปรับปรุงโครงสร้างภาษีและพิกัดศุลกากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
และการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน Supply Chain ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่ควรจะต้องเร่งปรับตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้ จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่อไป
ผลสำรวจทั้งหลายนี้ จะได้รับความสนใจจากภาครัฐ แค่ไหน อย่างไร คำตอบ อยู่ที่การประชุม บอร์ดอีวี ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้