สมรภูมิเดือด! แบงก์แข่งดุปล่อยกู้ SME 2
ต่อจาก… สมรภูมิเดือด! แบงก์แข่งดุปล่อยกู้ SME 1
เรียกว่า…ใครทำตามกฎกติกามารยาท “เข้าตามตรอก ออกตามประตู” เดินเข้ามาขอกู้กับวงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอีของแบงก์กรุงไทย ผู้เป็น…หัวหอกในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐของรัฐบาลได้เลย
ล่าสุด กับสถานการณ์อุทกภัย แม้จะไม่ได้เกิดมากมายในหลายพื้น และไม่มีความสูญเสียมากนัก แต่ทว่า…แบงก์กรุงไทย โดยการประกาศกร้าวของ นายปฏิเวช ก็ชัดเจนว่า…แบงก์แห่งนี้พร้อมจะหั่นอัตราดอกเบี้ยลงให้อีก 1% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังเตรียมจัดสรรสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ คิดดอกเบี้ยเริ่มต้นแค่ 4% ให้อีกด้วย
ถือเป็น “หัวหมูทะลวงฟัน” ในซีกกลไกลของรัฐบาล…ที่สร้างผลงานได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว!
สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย อีกแบงก์ใหญ่ที่ประกาศจับมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไปก่อนหน้านี้ พวกเขาก็ไม่ยอมน้อยหน้า พร้อมจะจัดสรรวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ไม่ด้อยไปกว่าแบงก์ขนาดใหญ่รายอื่นๆ
ตั้งเป้าปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ระดับหลายหมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียว!
จากปากของ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่ออกมาบอกว่า…การปล่อยกู้ครั้งใหม่นี้ สะดวก ง่าย รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งกว่า เมื่อมีการนำแอพพลิเคชัน K PLUS มาช่วยให้การพิจารณาและปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ เพียงส่งความต้องการสินเชื่อ ผ่านไปยังเมนู Life PLUS เท่านั้น ระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ก็พร้อมทำงาน และใช้เวลาพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่นานนัก ก็รู้ผลกันแล้ว
ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ มีผู้ใช้แอพพลิเคชัน K PLUS มากกว่า 8.4 ล้านราย และในนั่น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1,200 ราย ที่อยู่ในข่ายจะได้รับเงินกู้ออนไลน์จากแบงก์กสิกรไทยในรอบนี้ และสิ่งนี้ ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งจาก นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่พูดถึงเป้าการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เฉพาะที่ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ โดยตั้งไว้ถึง 3,000 ล้านบาทนั้น ต้องถือเป็นอีกนวัตกรรมการให้สินเชื่อที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น
สำหรับแบงก์ยักษ์ “เบอร์ 1” อย่าง…ธนาคารกรุงเทพ แม้จะไม่มีเสียงเล็ดรอดให้ได้ยินมากนักว่า…พวกเขาคิดอ่านประการใด? กับสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า…ถึงแม้แบงก์แห่งนี้ จะเน้นผู้ประกอบรายใหญ่ และยักษ์ ทั้งในซีกอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก รวมถึงสินเชื่อ “บิสซิเนส พาร์ทเนอร์” ที่ผูกติดกับธุรกิจเฟรนไซส์ ค่ายดังๆ อย่าง…เซเว่นอีเลฟเว่น และอีกหลายๆ ค่าย
แต่ทว่ากับเอสเอ็มอีที่มีเครือข่ายครอบคลุมและกว้างไกลไปทั่วประเทศ ด้วยจำนวนมากกว่า 2 ล้านรายนั้น ไม่มีทางที่แบงก์กรุงเทพจะปล่อยผ่านไปได้ เพียงแต่การเคลื่อนไหวของพวกเขา…ไร้เสียง ประหนึ่ง…เหยียบย่ำอยู่บนผืนหิมะ กระนั้นเลย
ถึงตรงนี้ คงต้องยกความดีความชอบทั้งมวลให้กับ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการผลักดันให้แบงก์รัฐ ทั้ง…เอสเอ็มอีดีแบงก์ และธนาคารกรุงไทย มุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน
พร้อมกับแผน…สร้างบ้านแปงเมือง ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น…โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟรางคู่, ถนนสี่เลน, ถนนมอเตอร์เวย์, รถไฟฟ้าความเร็วสูง, รถไฟฟ้าหลากสีในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และอื่นๆ
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลประกาศทุ่มทุนนับแสนล้านบาท เนรมิตดินแดนภาคตะวันออกของไทย ให้กลายเป็นสวรรค์ของการลงทุน ในห้วง…ประเทศไทย ยุค 4.0 เรียกเสียงฮือฮาในกลุ่มชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่น้อยทีเดียว!
และที่สำคัญ โครงการขนาดใหญ่อย่างนี้…ยังดึงดูดกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งในและนอกประเทศ ให้ขนเงินเข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยเฉพาะในยามสงครามการค้าที่กลับมาระอุ! กันอีกครั้ง เมื่อทางการสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสำหรับจัดเก็บกับสินค้าส่งออกของจีน รอบใหม่ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทนั้น
จึงไม่แปลกใจ! หากกลุ่มทุนจีนที่มุ่งเน้น…ผลิตเพื่อการส่งออก จะหันเหและพุ่งเป้ามุ่งมายังดินแดนอีอีซีของไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดทอนปัญหาการถูกกีดกันด้วยกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ
ซึ่งนั่น…จะก่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ได้ไม่น้อยทีเดียว!!!
แต่ที่ยั่งยืนกว่านั้น คือ ไทยต้องพึ่งพิงตัวเองให้มากที่สุด และเป็น “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล คสช. ที่มีหัวหน้าทีมชื่อ…นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่พุ่งเป้าสร้างความเข้มแข็งจากภายใน นั่นคือ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย…เติบโตอย่างกล้าแกร่ง!
เหมือนที่รัฐบาลญี่ปุ่น ทำสำเร็จมาแล้ว โดยใช้เครือข่ายเอสเอ็มอี เป็นฐานการผลิตระดับย่อย ก่อนส่งต่อไปให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผลิตเพื่อการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ สร้างความเข้มแข็ง ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงเอสเอ็สอีของพวกเขาด้วย
สิ่งนี้…รัฐบาลจีนและหลายประเทศ รวมทั้งไทย กำลังเดินตามรอยญี่ปุ่น! จะมีก็แต่…รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ชนิดยอมให้ “ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก” เราจึงไม่ได้เห็น…ทางการสหรัฐฯ ออกนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบเอสเอ็มอี เหมือนที่รัฐบาลญี่ปุ่น จีน และไทย ทำกัน
เมื่อถึงยามที่โลกประสบปัญหา…ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน! ไม่ว่าจะเพราะสภาพการณ์ใด? สงครามทางการทหาร หรือเพราะพิบัติภัยทางธรรมชาติ กระนั้น ประเทศที่มีโครงข่ายเอสเอ็มอีเข้มแข็ง ย่อมจะอยู่ได้ทรนงและองอาจมากกว่า
ถึงต้องบอกว่า…ขอขอบคุณ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล คสช. รวมถึงบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ของไทย ที่มองเห็นความสำคัญของเอสเอ็สอีและวิสาหกิจชุมชนของไทย ด้วยการสร้างบรรยากาศ…
สมรภูมิเดือด! แข่งดุปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี…เล็กใหญ่ของไทย
ที่จะเดือดเลือดพล่านอย่างไร? ประโยชน์ก็ย่อมตกอยู่กับ…ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนไทย รวมถึงระบบเศรษฐกิจไทย นั่นเอง.