แบงก์แห่ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เสริมเงินกองทุนขั้น1

สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเริ่มมาตั้งแต่ ที่มีสงครามการค้าระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ และเศรษฐกิจยิ่งทรุดหนักลงทั่วโลกในช่วงการระบาดของไวรัสโควิค-19 เมื่อต้นปี 2020
เศรษฐกิจทั่วโลกที่ทรุดหนักในรอบนี้ กินระยะเวลายาวนานข้ามปี จึงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และภาคธนาคารก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสียที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากมาตรการผ่อนผันของแบงก์ชาติ แต่เมื่อหมดระยะเวลาการผ่อนผัน ก็เชื่อว่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียอย่างชัดเจน
ทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะการเงิน โดยแนวทางหนึ่งที่อย่างน้อย 3 ธนาคาร ได้เลือกใช้ คือ การออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1(Additional Tier 1)
ธนาคาร วงเงิน (ล้านดอลล์) ดอกเบี้ย
1.ธ.กรุงเทพ 750 5.0%
2.ธ.กสิกรไทย 500 5.275%
3.ธ.กรุงไทย 600 4.4%

โดยธนาคารแรกที่ประกาศขายตราสารประเภทนี้ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 ธนาคารได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่เป็นตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ภายใต้ Global Medium Term Note Program วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 5% ไม่มีกำหนดชำระคืน แต่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนตราสารและปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจาก 5 ปี เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ

ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทยที่ระดมทุนไปตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ได้ออกตราสารการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (AT1) จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ ไม่มีกำหนดอายุตราสาร (Perpettual) อัตราดอกเบี้ย 5.275% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และมีการ Reset อัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปี ธนาคารมี Call option ในการไถ่ถอนตราสาร โดยครั้งแรกคือ 14 ต.ค.2568 (การไถ่ถอนต้องได้รับความเห็นชอบจากธปท.ก่อน) อันดับความน่าเชื่อถือตราสาร Baa1 (โดย Moodys) โดยการออกตราสารนี้อยู่ภายใต้โปรแกรมการออก Medium term note มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ของธนาคาร

และธนาคารที่ประกาศเป็นรายล่าสุด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ธนาคารประสบความสำเร็จ ในการออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ตามหลักเกณฑ์ Basel III มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี โดยเป็นตราสารด้อยสิทธิไม่มีกำหนดชำระคืน ธนาคารสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดเมื่อตราสารมีอายุครบ 5 ปี เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ
โดยตราสารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ระดับ Ba3 โดย Moody’s และมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสาร ได้แก่ Citigroup, HSBC, Bank of America Securities และ Standard Chartered
โดยในครั้งนี้ มีผู้ลงทุนแสดงความสนใจลงทุนในตราสารของธนาคารกว่า 3.8 เท่าของมูลค่าที่ออกในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีคุณภาพและลงทุนระยะยาวจากทั่วโลกจำนวน 155 ราย แบ่งตามภูมิภาคเป็นนักลงทุนในทวีปเอเชีย 74% นักลงทุนในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 16% นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและอื่น ๆ อีก 10% และแบ่งตามประเภทนักลงทุน เป็นประเภทบริษัทบริหารเงินลงทุน 87% ที่เหลือเป็น private banks บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ และธนาคารพาณิชย์
เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีอีกหลายธนาคารที่จะมีการระดมทุนออกตราสารหนี้ประเภทนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน และเพื่อไม่ต้องใช้วิธีการเพิ่มทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์