จี้รัฐเร่งแก้กม.การออมฯ ดึง 14.6 ล.แรงงานเข้าระบบ
รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง จะหาทางออกอย่างไร? กับ พ.ร.บ.การออมแห่งชาติฯ ทั้งที่มันคืออุปสรรคสำคัญขัดขวางแรงงานนอกระบบ 14.6 ล้านคน จนไม่อาจเข้าใกล้ภาวการณ์ออม ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
สถานการณ์การออมของประเทศไทย…สัมพันธ์กับจำนวนแรงงานทั้งระบบที่มีรวมกันราว 37 ล้านคน!
เฉพาะแรงงานในระบบ…17 ล้านคน ต่างมีเงินออมในรูปแบบต่างๆ แต่กับแรงงานนอกระบบอีกราว 20 ล้านคน มีเพียง 5.4 ล้านคนเท่า ที่มีโอกาสเข้าถึงการออมในภาคสมัครใจ
ที่เหลือ 14.6 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงการออมเงิน แม้ว่าภาครัฐคาดหวังจะดึงเอาคนกลุ่มนี้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างระบบการออมเงินของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอทางสังคม
ด้วยหวังจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ทว่า ยิ่งทำ…ก็ยิ่งดูเหมือนจะห่างไกลจากสิ่งคาดหวัง! แล้วอะไรคือต้นตอของปัญหานี้
ชัดเจนเมื่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวตอนหนึ่ง ระหว่างเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูงในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)” จัดโดย…กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ สพฐ. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ร.ร.รามาการ์เด้น กรุงเทพฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 3 มีนาคม 2564
“ทุกวันนี้เรามีแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบที่มีการออมในรูปแบบต่างๆ ราว 17 ล้านคน แบ่งเป็นคนที่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประกันตนโดยสมัครใจ) และ 39 (ประกันสังคมโดยอิสระ) รวมถึงคนที่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เหลืออีก 20 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งในกลุ่มนี้ มีเพียง 3 ล้านคนที่อยู่ในระบบการออมแบบภาคสมัครใจกับระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 และ 2.4 ล้านคนที่เป็นสมาชิกของ กอช. นั่นก็หมายความว่า มีคนอีกราว 14.6 ล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงการออม และเป็นสิ่งที่ภาครัฐ โดยเฉพาะ กอช. พยายามจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออมให้ได้โดยเร็ว” รมว.คลัง ย้ำ
ก่อนหนี้ เป็น กอช.ที่พยายามส่งสัญญาณขอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554ในประเด็นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น…การขยายช่วงอายุของสมาชิก จากเดิม 15-60 ปี เป็น…ต่ำกว่า 15 ปี และสูงกว่า 60 ปี, การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ กอช.มากยิ่งขึ้น ฯลฯ
แม้กระทั่ง การเปิดช่องให้คนที่อยู่ในระบบการออมรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 และ 39 สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ กอช. คู่ขนานกันไปได้
แต่ดูเหมือนสิ่งนี้ กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ดูแลเรื่องนี้ จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกอช. ดังนั้น การเดินหน้าเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติฯ จึงยังไปไม่ถึงไหน?
ล่าสุด กับความคาดหวังจะดึงเอา สพฐ. เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการเชิญชวนให้นักเรียนวัย 15 ปีขึ้นไปที่อยู่ในระบบการศึกษาของ สพฐ. และมีรวมกันราว 5 ล้านคนทั่วประเทศ มาเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มจำนวนผู้ออมเงินในซีกของ 14.6 ล้านคน นั้น
เอาเข้าจริง! จะทำได้สักมากน้อยแค่ไหนกัน?
อย่างที่รู้…เด็กในวัยนี้ อาจมองไม่เห็นถึงเหตุผลและความจำเป็นของการออมเงิน ด้วยเพราะเป็นวัยที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ชอบทดลอง…ทดสอบในโลกที่พวกเขายังไม่เคยสัมผัส อะไรที่ไม่เคยมี ไม่เคยได้ ไม่เคยเป็น ไม่เคยไป และไม่เคยทำ
พวกเขาก็อยากจะมี อยากจะได้ อยากจะเป็น อยากจะไป อยากจะทำ…
ประสาอะไรกับรายได้ในแต่ละวันที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง สำหรับเป็น…ค่าอาหาร ค่าขนม ค่าเครื่องดื่ม ค่ารถโดยสารประจำทาง สารพัด! จะเหลือเพื่อเจียดมาเป็นเงินออม
แม้…ภาพใหญ่ นายอาคม จะตั้งโจทย์และชวนให้คนไทยได้ขบคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิม…“รายได้ – รายจ่าย = เงินออม เป็น… รายได้ – เงินออม = รายจ่าย”
เพราะ ทฤษฎีใหม่ ที่ รมว.คลัง เสนอมา ด้วยการเอาเงินออมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมรายจ่ายของคนไทยนั้น จะทำได้กับเด็กและเยาวชนไทยใน พ.ศ.นี้ หรือไม่? เป็นอะไรให้ต้องลุ้น!
ต่อให้เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานก็เถอะ! เอาเข้าจริง…จะใช้ชีวิตตามทฤษฎี “รายได้ – เงินออม = รายจ่าย” ได้สักกี่คน?
ประเด็นที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะ รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ตั้งข้อสังเกตในเวทีเดียวกันนี้ น่าสนใจไม่ได้ คือ ทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนไทย สามารถมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ระหว่างศึกษาในโรงเรียน เหมือนเช่นที่ ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กพิการ ได้มีอาชีพและรายได้เสริมจากงานและการขายศิลปะ กระทั่ง มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
และเป็น นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ สพฐ. ที่ยืนยันว่า ทุกวันนี้ โรงเรียนและครูในสังกัดของสพฐ.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนรวมกลุ่ม 4-5 คนขึ้นไป ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ระหว่างเรียน โดยไม่จำกัดการหารายได้ในโรงเรียนเหมือนเช่นในอดีต
หากกระบวนดังกล่าวมีอยู่จริง! ไม่เพียงเด็กนักเรียนจะมีโอกาสได้ฝึกฝนในอาชีพและสร้างรายได้พิเศษระหว่างเรียน หากส่วนหนึ่งของรายได้พิเศษเหล่านั้น ยังจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างระบบเงินออมของ กอช.ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
กระนั่น ต่อให้ กอช. สพฐ. โรงเรียน ครู และเด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (เนื่องจากเด็กเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม 37 ล้านคนของแรงงานทั้งระบบ) จะร่วมด้วยช่วยกัน สร้างการออมครบทั้ง 100% ก็ได้เพิ่มมาแค่ 5 ล้านคน
ยังขาดอีก 9.4 ล้านคนของแรงงานนอกระบบ…ที่ยังเข้าไม่ถึงการออมตามแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี
ประเด็นปัญหานี้ จึงเป็นสิ่งที่ นายอาคม กระทรวงการคลัง สศค. และ กอช. จะต้องร่วมกันคิดเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด!”
การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ คือ คำตอบของเรื่องนี้
ล่าสุด น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. ระบุว่า กอช. ได้เสนอให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้แล้ว เบื้องต้นน่าจะขยายช่วงอายุของสมาชิกฯ จากเดิม 15 – 60 ปี เป็น 65 ปี ส่วนเงินที่รัฐบาลสมทบให้สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี จะขยายให้มากกว่านี้ ส่วนจะเป็นเท่าใด ขึ้นกับรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะพิจารณา
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินสมทบให้กับสมาชิก กอช.ในช่วงวัยต่างๆ กล่าวคือ อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี, อายุมากกว่า 30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี และ อายุมากกว่า 50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
ปัจจุบัน กอช. เปิดดำเนินการมาแล้ว 5 ปี มีสมาชิกฯทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2564) โดยสมาชิก กอช. ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 30 ปี มีจำนวนเพียง 354,810 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.81 จากสมาชิก กอช. และคิดเป็นร้อยละ 4 ของกลุ่มเป้าหมายประชากรไทยที่มีอายุ 14-24 ปี ที่มีจำนวนอยู่เกือบ 9 ล้านคน (ข้อมูลสถิติประชากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน).