THE RE INVENTION : กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เครือ นสพ.มติชน จัดงาน “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต” : THE RE INVENTION (การสร้างขึ้นใหม่) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ณ Royal Paragon Hall ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมี “สุดยอด 5 นักธุรกิจ 5 นักคิด ผู้ที่พลิกการแข่งขันด้วยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
ในยุคที่สังคมมนุษย์กำลังถูก “ดิจิทัล เทคโนโลยี” เข้ามา Disruptive ชนิดไม่ทันตั้งตัว และคาดการณ์ไม่ได้ว่า…มันจะมาเมื่อไหร่? เวลาไหน? แค่ไหน? ทำไม? และอย่างไร?
โดยมี นายชานนท์ เรืองกฤตยา (อนันดา พร๊อพเพอร์ตี้) , นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ไทยซัมมิท), นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (โอเพ่นบุ๊กส์), ตูน บอดีสแลม (ร็อคเกอร์ชื่อดัง), นายจิระ มะลิกุล (ค่ายหนัง GDH), นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม), หนุ่มเมืองจันทร์, นายอิศรา หะรินสุต (Omise) และนายจิรัฐ บวรวัฒนะ (BNK 48) ร่วมงานบนเวทีครั้งนี้
หลายมุมมองของนักคิดและนักธุรกิจที่แสดงออกมาในวันนั้น ดูช่างน่าสนใจและควรนำมาถ่ายทอดต่อ เพราะสิ่งนี้ อาจสร้างความหวังและเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คน ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมงานในวันนั้น ได้ฉุกคิด! อย่างเท่าทัน และนำไปปรับใช้กับชีวิตและธุรกิจของตัวเอง
ดังนั้นเว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS จึงขอหยิบยกในบางมุมมองของวิทยากรบางคน มาเล่าสู่กันฟังในลักษณะ “สรุปประเด็น” แบบเน้นๆ ดังนี้…
เริ่มกันที่ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ ที่เปิดเวทีได้อย่างฮึกเหิม ปลุกความหวังและกำลังใจให้ผู้ฟังเฉียด 2,000 คนได้ตระหนักถึงภัยจากความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันของการ Disruptive ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ มาแล้วก็มาอีกและมาเรื่อยๆ จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้ ความกล้าเท่านั้น ที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย กล่าวคือ “ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ” และ “ กล้าที่จะยอมรับความเป็นจริง ” โดยไม่จำนนต่อชะตาชีวิตและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
พร้อมยกตัวอย่างกรณี “ อยุธยาเสียกรุงฯครั้ง 2 ” ว่า กองทัพพม่าเรียนรู้ที่จะหากลวิธีและแนวทางเข้าตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกพ่าย โดยไล่ตีหัวเมืองหน้าด่าน ที่เคยส่งกำลังบำรุงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา แยกกองทัพบุกยึดหัวเมืองทางเหนือและทางใต้ อย่างเป็นกระบวนการ ขณะที่กษัตริย์และแม่ทัพนายกองของกรุงศรีอยุธยา กลับยึดแนวทางเก่าๆ ในการรับมือกองทัพพม่า ด้วยหวังว่า “น้ำและดินฟ้าอากาศ” จะช่วยพวกเขาได้เหมือนที่แล้วๆ มา แต่สุดท้ายก็ต้องเสียกรุงฯไปอย่างไม่มีวันที่จะบูรณะให้กลับมาเป็นดุจเดิมได้
ต่างจาก สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วันนั้น…ยังเป็นเพียง “เจ้าเมืองตาก” แต่เห็นต่างและเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาคงยากจะรักษาเมืองเอาไว้ได้ จึงนำทหารราว 500 คนตีฝ่าด่านวงล้อมกองทัพพม่า เพื่อไปตั้งหลักและยึดหัวเมืองภาคตะวันออก คือ เมืองจันทบุรี กระทั่ง กลับมายึดเมืองคืน “ความเป็นไท” จากกองทัพพม่าในเวลาต่อมา
โดยนายภิญโญชี้ให้เห็นว่า…วันนั้น “เจ้าเมืองตาก” กล้าที่เปลี่ยนแปลง ด้วยการวางตำแหน่งตัวเอง เป็น “ว่าที่พระมหากษัตริย์” นำทัพทหารกล้ากลับมาประกาศเอกราช พร้อมกับย้ายเมืองหลวงสู่กรุงธนบุรี ก่อนที่รัชกาลที่ 1 จะย้ายเมืองหลวงอีกที มาสร้างเป็นกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
“ หากคนเราไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ยากที่จะมองเห็นถึงพิษภัยของ Disruptive และมิอาจจะหาทางรับมือกับมันได้ ไม่แปลกหากฟ้าดินจะรังแกมนุษย์ แต่จะเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ หากมนุษย์จะยอมจำนน ซึ่งมันคงไม่ต่างไปจากการที่มนุษย์รังแกตัวเอง ” นี่คือสิ่งที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS สรุปได้จากความคิดของวิทยากรท่านแรกนี้
หันไปดู “สาวเก่ง” อย่าง…นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งเครือไทยซัมมิท ที่เธอบอกว่า…แม้จะถูกวางตัวให้เป็นทายาทมาดูแลกิจการของครอบครัว ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ ทว่าการจากไปของ “ผู้นำครอบครัว” (บิดา) แบบปัจจุบันทันด่วน! ทำให้เธอในวัยกระเตาะ ต้องเข้ามาแบกรับภาระหนักอึ้งในครั้งนี้
เธอยอมรับว่า…ในองค์กรมี “คนรุ่นเก่า” จำนวนมาก ที่สร้างบริษัทมาพร้อมกับคุณพ่อของเธอ หลายคนที่เธอเรียกว่า…ลุง และหลายคนที่เรียกว่า…อา ซึ่งแน่นอนว่าความเป็น “เด็กสาว” ที่ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาก่อน ย่อมต้องถูก “ลองของ” เป็นธรรมดา สุดท้าย เธอเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ โดยการเร่งศึกษางานตั้งแต่ระดับล่างๆ ขึ้นไป เธอบอกว่า…ไม่จำเป็นที่เราต้องเปลี่ยนแปลงในแบบฉับพลัน งานบางอย่างจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นบรรดา “ผู้อาวุโส” เห็น ก็จะเกิดการยอมรับตามมา และให้ความร่วมมือในการสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อองค์กรในที่สุด
เมื่องานเก่าเดินไปข้างหน้า การสร้างกิจกรรมใหม่ๆ และงานใหม่ๆ ก็จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นมา พร้อมกับการสร้างทีมงานใหม่ๆ มาเสริมกับคนรุ่นเก่า และคนรุ่นกลาง สร้างและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน รวมถึงขยายงานไปยังสายงานที่เราถนัด ทำได้ดี และต้องเป็นงานที่มีอนาคต หากงานใหม่ไม่เวิร์ก หรือทำแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ก็ต้องตัดใจทิ้งงานนั้นออกไป
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ เชื่อว่า อนาคตอันใกล้ ราวปี ค.ศ.2040…เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง และมนุษย์จะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โลกไม่จำเป็นต้องสร้างเด็กที่เกิดใหม่ และคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือ เพราะวิทยาการความก้าวล้ำทางแพทย์ สามารถฝัง AI (ปัญญาประดิษฐ์) ไว้ในร่างกายของมนุษย์
การเดินทางของคนในยุคนั้น ไม่ต่างจากภาพยนตร์ไซไฟของฮอลลีวูด กล่าวคือ ผู้คนจะอาศัยโดรนในการเดินทาง จึงไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ หรือนั่งรถไฟฟ้า บ้านพักอาศัยก็ไม่ใช่คอนโดมิเนียนแนวรถไฟฟ้าเช่นในทุกวันนี้ คนยุคนั้น มองการซื้อที่พักอาศัย ด้วยการผ่อนนานถึง 30 ปี เป็นความล้าหลัง และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจริง นั่นหมายความว่าธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้
“ แม้สิ่งนี้อาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่จำเป็นที่คนเราจะต้องเตรียมการและหาทางรับมือกับสิ่งนี้ ควบคู่ไปกับการดูแลบริหารจัดการงานในชีวิตจริงของปัจจุบัน รุ่นเราจะทันหรือไม่ทัน มิอาจรู้ได้? แต่สิ่งนี้มันมานี้ และจะเกิดขึ้นกับคนในรุ่นลูกรุ่นหลานของเราอย่างไม่ต้องสงสัย ” นั่นคืออีกบทสรุปที่ได้จากมุมมองของคนซึ่งถูกกล่าวขานกันว่า…เป็น “ผู้ที่ถูกยืมตัวมาจากอนาคต”
สุดท้ายกับมุมมองของ “ร็อคเกอร์ชื่อดัง” อย่าง…ตูน บอดี้สแลม หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย ที่ออกมาพูดถึงแรงบันดาลใจจากการวิ่งเพื่อขอรับเงินบริจาค คู่กับนายจิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ระดับ “มือทอง-สมองเพชร” ที่ร่วมกันผลิตภาพยนตร์เชิงสารคดีจากชีวิตจริงของ ตูน บอดี้สแลม ระหว่างการวิ่งครั้งนั้น ในมุมมองที่เขาตอกย้ำว่าเป็น “พื้นที่ส่วนตัว” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น แต่จะได้เห็นจากภาพยนตร์เชิงสารคดีชื่อ “2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ที่เตรียมจะนำออกฉายให้ชมฟรี! หรือเก็บค่าเข้าดูต่ำที่สุด ทั้งนี้ เพื่อหวังจะขอรับเงินบริจาค เพื่อนำไปมอบต่อให้กับโรงพยาบาลศิริราชในโอกาสต่อไป
ตอนหนึ่ง ตูน บอดี้สแลม ยอมรับว่า อาชีพนักร้องและการร้องเพลงในงานคอนเสิร์ต คือ “ความใฝ่ฝัน” (อาชีพในฝัน) แต่เมื่อต้องทำอยู่บ่อยๆ จนเป็นความซ้ำซากและจำเจ มันจึงไม่น่าสนใจและกลายเป็นความเบื่อหน่าย กระทั่ง มีความคิดลึกๆ ว่า “ตัวเองโดดเดี่ยว ในท่ามกลางฝูงชนมากมายที่มาชมคอนเสริ์ต” ดังนั้น เขาจึงมองหาสิ่งที่ท้าท้ายใหม่ๆ นั่นคือ การออกวิ่ง
ครั้งหนึ่ง…ด้วยความที่ชอบออกกำลังกายและเล่นฟุตบอลอยู่บ่อยๆ เมื่อต้องออกวิ่งในสวนสาธารณะ กับระยะทางที่ตั้งใจจะวิ่ง 10 กม. เขาจึงออกวิ่งด้วยหัวใจพองโต ทุกก้าวที่วิ่งด้วยอัตราเร่ง และเพิ่มสปีดขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 2-3 กม.แรก สามารถจะวิ่งผ่านผู้คนมากมาย ตั้งแต่…เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ แม้กระทั่ง คนรุ่นหนุ่มสาว แต่เมื่อผ่านระยะทางสู่ 4-5 กม. อัตราเร่งของเขาก็ลดลง จากวิ่งเร็วสุด มาเป็นวิ่งเร็ว วิ่งปานกลาง วิ่งช้า เดิน และหยุดนิ่งในที่สุด
กลุ่มคนที่เขาเคยวิ่งผ่านมา ด้วยความรู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่อง “เยี่ยงผู้ชนะ” ต่างกำลังจะวิ่งเลยหน้าเขาไปเรื่อยๆ ทีละคนๆ สุดท้าย เป็นเขาที่อยู่ข้างหลัง
ตรงนี้ มันบอกสัจจธรรมที่ว่า… “คนเราอาจเก่งในเวทีหนึ่ง แต่เมื่อต้องลงไปเล่นหรือแข่งขันในอีกเวทีหนึ่ง ที่เราไม่คุ้นชิน เป็นสภาพที่เราไม่คุ้นเคย และเป็นสมการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสินเชิงนั้น อาจทำให้เราไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ จำเป็นที่เราจะต้องปรับตัวและเตรียมการ รวมถึงเตรียมใจยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนให้ได้”
อีกช่วงหนึ่งที่ ตูน บอดี้สแลม ถ่ายทอดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ การรู้จักตัวตนของตัวเองในอีกบริบทหนึ่ง โดยเท้าความถึงตอนที่เขาลงแข่งขันวิ่งไกลในระยะทาง 100 กม. ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นจากหิมะที่ตกกระหน่ำลงมาเรื่อยๆ ตลอดระยะทางที่เขาต้องวิ่งในช่วงระยะทางสุดท้าย
ปรากฏการณ์ครั้งนั้น ทำให้พบว่า…ในตัวตนของเขานั้น มีตัวตนใหม่แทรกขึ้นมา นั่นคือ “ตัวยอมแพ้” และ “ตัวเสียดาย” ร่วมอยู่ในตัวของตัวเอง และมันกำลังต่อสู้กันเอง ช่วงระหว่างที่เขาวิ่งผ่าน จากสภาพอากาศที่อบอุ่นมาตลอดระยะทางมาไกลถึง 80 กม. เมื่อเหลือแค่เพียง 20 กม.ที่จะถึงเส้นชัย แต่ทว่า…สภาพอากากลับหนาวเย็นแบบฉับพลัน ทำให้เขาก้าวขาไม่ออก มันทรมานและเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส พูดได้ว่า “ขากัไม่ไปกับใจ” เขารู้สึกเหนื่อย…เหนื่ยมาก เหนื่อยจนเกือบตาย!!!
ตูน บอดี้สแลม บอกว่า…ตอนนั้น ดูเหมือน “ตัวยอมแพ้” จะชนะขาด มีชัยเหนือเจ้า “ตัวเสียดาย” ทว่าห้วงเวลานั้น มันกลับจะมีอาการ…ฉุกคิด! ขึ้นมาได้ สิ่งนี้…ถือเป็นการก่อเกิด “เส้นเรียนรู้” ขึ้นมาในฉับพลัน เพราะจากแนวคิดเดิมคือ หยุดวิ่ง ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็น…วิ่งช้าลง และเดินในที่สุด กระทั่ง ยอมตัดใจเลิกวิ่งในช่วงระยะทางไม่ถึง 20 กม. นั้น
สะท้อนให้เห็นว่า…ก่อนที่คนเราจะยอมแพ้อะไรนั้น หากเราได้คิดและลงมือทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้เรามีเวลามากพอจะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย และเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับเรามากที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ
ถึงตรงนี้ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ต้องขอขอบคุณ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ที่จัดงานดีๆ เช่นนี้ เพื่อเติมเต็มเป็นอาหารสมองให้ผู้คนในสังคมไทย ได้รู้อย่างเท่าทันและรู้ก่อนเพื่อเตรียมวางแผนและหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้
ไม่ว่าสิ่งนี้…จะค่อยๆ มา หรือมาแบบถาโถม โหมใส่ก็ตาม.