คปภ.เอาไง? ภัยไซเบอร์รุกธุรกิจประกัน
นาทีนี้ “ภัยไซเบอร์” ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะแค่กลุ่มสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำทั่วโลก หากแต่พฤติกรรม “เจาะลึกข้อมูล” ของบรรดา “แฮ็กเกอร์ข้ามชาติ” ยังจะรุกหนักและทะลุลวงเข้าไปในหลายวงการ แต่ที่น่ากลัวมากสุด! คงไม่พ้นการเข้าไป “แฮ็กข้อมูล” ของเหล่าลูกค้ากลุ่มธุรกิจประกันภัย โฟกัสในส่วนของ “ประกันชีวิต” ที่ส่อเค้าลางจะกลายเป็นความเสี่ยงมากและรุนแรงสุด!
ก่อนหน้านี้ เป็นนายวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ออกมาเตือน…ธนาคารพาณิชย์และบริษัทธุรกิจ-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย ให้ระวังการ “แฮ็กข้อมูล” ของโจรไซเบอร์ข้ามชาติ หลังจากที่ธนาคารกรุงไทยและกสิกรไทย ตกเป็น “เหยื่อ” ในเกมที่ว่ากันว่า…เป็นแค่เพียง “การทดสอบแนวต้าน” ของธนาคารพาณิชย์ในไทย จากฝีมือของ “แฮ็กเกอร์ต่างชาติ” เท่านั้น
เพราะจากนี้ไป…บรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยและอีกหลายธุรกิจ-อุตสาหกรรมของไทย รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาจต้องเจอกับ “ภัยคุกคามออนไลน์” เช่นนี้ ไม่มีหยุดหย่อนเป็นแน่!
ทีมข่าวเว็บไซต์ AEC10NEWS.COM เคยมีโอกาสถามไถ่ ทั้งจาก…นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระหว่างการร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุด (ประจำเดือนสิงหาคม) ได้คำตอบแค่เพียง…
บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ คงมีการเตรียมการรับมือกันบ้างแล้ว ส่วนบริษัทขนาดเล็กลงมา ทาง กกร. ที่มีนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.ก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และเร่งประชาสัมพันธ์ให้บริษัทเหล่านั้น ได้รับรู้ถึง “ภัยไซเบอร์” ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาให้อนาคต
แน่นอนว่า…ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ต่างเตรียมการรับมือ…ภัยจาก “แฮ็กเกอร์ข้ามชาติ” ทั้งการลงทุนด้าน “ซีเคียวริตี้ เทคโนโลยี” การฝึกอบรมบุคลากรและสร้างทีมงานขึ้นมารับมือเป็นการเฉพาะ รวมถึงดึงเอามืออาชีพเฉพาะทางจากต่างประเทศ มาให้คำปรึกษาและคอยดูแลในการสร้างมาตรการป้องกันและเฝ้าระวัง “ภัยไซเบอร์” ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
แต่กับวงการอื่นๆ โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจประกันภัยและประกันวินาศภัย ซึ่งก็เป็นสาขาหนึ่งของสถาบันการเงินแล้ว ดูเหมือนส่วนใหญ่จะยัง “เย็นชา” ต่อสถานการณ์เช่นนี้ เคยมีคนระดับ “ผู้นำองค์กร” ของวงการประกันภัยบางคน? บอกกับ ทีมข่าวเว็บไซต์ AEC10NEWS.COM ทำนอง…ข้อมูลด้านการประกันภัย โดยเฉพาะการประกันชีวิต ไม่มีอะไรลึกซึ้งมากพอจะทำให้ “แฮ็กเกอร์ต่างชาติ” สนใจเข้ามาชอนไชและนำเอาข้อมูลเหล่านั้น ไปขยายผลจนสร้างความเสียหายใดๆ ได้
กระทั่ง ในวันที่ “2 ผู้บริหารหนุ่ม” ของ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต คือ นายอภิรักษ์ จิตรานนท์ และนายวีรภัทร จันทรวรรณกูล ออกมายอมรับกันตรงๆ ว่า…ภัยจาก “แฮ็กเกอร์ต่างชาติ” นั้น มีอยู่จริงและน่ากลัวมาก เพราะหากมีการเข้ามาล้วงลึกถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าผู้เอาประกัน ไม่ว่าจะเป็น…ข้อมูลหรือประวัติการรักษาพยาบาล, อาการเจ็บป่วย, การใช้ยา, การชำระเงิน ฯลฯ รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตที่ลูกค้าใช้ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลแล้ว คงยากจะประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไว้ก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต โดยการสนับสนุนของ “บริษัทแม่” ประกาศทุ่มทุนกว่า 500 ล้านบาท ในช่วง3 ปีนี้ (2561-2563) ซึ่งไม่เพียงจะหวังแค่การเป็น “ผู้นำด้านดิจิทัลเทคโนโลยี” ในวงการประกันภัย หากแต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของ “แฮ็กเกอร์ต่างชาติ” กระทั่ง นำความเสียสูญเสียมาสู่บริษัท และลูกค้าของบริษัทฯได้นั่นเอง
ล่าสุด ในวันที่ บมจ.อลิอันซ์ ประกันภัย นำทีมโดยนางสาวศิรินทิพย์ โชติธรรมาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมมือกับ Kaidee ตลาดนัดออนไลน์ใหญ่สุดของไทย เพื่อทำตลาดขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยกลุ่ม “รถยนต์-บ้านและทรัพย์สิน-การเดินทาง-อุบัติเหตุส่วนบุคคล” ผ่านช่องทางของ Kaidee นั้น ก็มีการพูดถึง “ภัยไซเบอร์” ระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วย
โดยทั้ง นางสาวศิรินทิพย์ และนายทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/เฮดโค้ช Kaidee กล่าวตรงกันว่า…ความร่วมมือระหว่าง 2 ค่าย เป็นเพียงเงื่อนไขทางธุรกิจเท่านั้น แม้จะมีการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า แต่ก็เป็นข้อมูลทั่วไป ซึ่งจะนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของลูกค้า ผ่านระบบ Data Information เท่านั้น ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญของลูกค้าเฉพาะรายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กรทราบเป็นอย่างดีว่า…ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในส่วนของ บมจ.อลิอันซ์ ประกันภัยนั้น จะต้องทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลอันเป็นความลับของลูกค้าให้มากที่สุด และจะปล่อยให้คนนอกล่วงรู้ไม่ได้ แม้กระทั่ง Kaidee ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของพวกเขา ก็มิอาจจะรับรู้ข้อมูลในส่วนนี้ได้เลย
น่าสนใจว่า…ในเมื่อข้อมูล “ชั้นความลับ” ของลูกค้าผู้เอาประกัน ที่อยู่ในมือบริษัทประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็น…ข้อมูลหรือประวัติการรักษาพยาบาล, อาการเจ็บป่วย, การใช้ยา, การชำระเงิน ฯลฯ รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตที่ลูกค้าใช้ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่บริษัทประกันชีวิตจะต้องเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี
แต่หากมีบางบริษัทประกันชีวิต มิอาจจะรักษาข้อมูล “ชั้นความลับ” ของลูกค้าเอาไว้ได้ กระทั่ง ก่อเกิดเป็นความเสียหาย ทั้งต่อลูกค้า ต่อวงการประกันชีวิต และต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานกำกับดูแล อย่าง…. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งมีหน้าที่ตามชื่อขององค์กรแล้ว จะดำเนินการอย่างไร? กับบริษัทประกันชีวิตเหล่านั้น
ถามตรงไปยัง…นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ด้วยหวังว่า…คงมีคำตอบที่ดีเพียงพอจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าผู้เอาประกันได้บ้าง!!!.