ประยุทธ์ รุกทุกแพลตฟอร์ม ชิงพื้นที่ Gen Z

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม เรียกเสียงฮือฮา ด้วยการอัดวิดีโอคลิปสั้น ๆ กล่าวคำ “อวยพรตรุษจีน” เนื่องในวันปีใหม่ของคนจีน-คนไทยเชื้อสายจีน
“เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ผมขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล ได้ดลบันดาลพรให้พี่น้องชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน ได้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง อุดมด้วยลาภยศและมั่งมีศรีสุขทุกประการ ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้”
เป็นการประเดิม-คลิปแรกของการใช้ “ช่องทางใหม่” ผ่านแอปพลิเคชั่น “TikTok” ในรูปแบบของ “แพลตฟอร์ม” เพื่อรุกพื้นที่โลกออนไลน์-แชร์ส่วนแบ่งทางการการเมื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่ม-ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่”
“อยากให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลง ประชาชนก็ชอบติดตามในสิ่งที่ใหม่ๆ ในสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ ไม่ใช่ (ส่ายหัว) ที่ให้ความสนใจ บางทีพอเสนอไปตรง ๆ เขียนไป อะไรไปก็ไม่ฟัง ลองไปดู การชี้แจงในเฟซบุ๊ก ในเว็ปไซต์ต่าง ๆ มีคนเข้ามาดูน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ”
“TiKTok” แอปพลิเคชั่น “สัญชาติจีน” มีการดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้ง เป็นช่องทางสื่อสาร-พื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ในหมู่วัยรุ่นที่มีอายุอยู่ในช่วง 16-24 ปี หรือ “Gen Z”
“แต่ TikTok ของผม ผมบอกกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปแล้ว บอกกับสำนักโฆษกไปแล้วว่า ผมจะไม่ทำหน้าด็อกแด็ก ๆ ตามวัยรุ่น ผมไม่ทำ เพราะเป็นนายกฯต้องระมัดระวัง”พล.อ.ประยุทธ์ออกตัว
ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ขยับเข้าแพลตฟอร์ม “Podcast” เพื่อ“นั่งเล่าเรื่อง” ในรายการ “PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง” ในวันอาทิตย์
เป็นการ “ต่อยอด” มาจาก “รัฐบาลเล่าเรื่อง โดยนารีสโมสร” จัดรายการโดย “ทีมโฆษกรัฐบาล” ทุกวันเสาร์
ผังรายการเน้นการสื่อสารมาตรการ-นโยบายรัฐบาลที่ได้ออกไป-ทำไปแล้ว ตลอดจนชี้แจงประเด็น “Hot Issue” ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น มาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 และความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน
เป็นการสื่อสารผ่านเส้นเสียง-ทะลุถึงหูในลักษณะ “เข้าถึงได้ง่าย” และสามารถฟังได้ทุกที่-ทุกเวลา ไม่ว่าจะพักอาศัยอยู่ในบ้าน-เดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวในวันหยุด-สุดสัปดาห์ โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล-ลบข้อจำกัดการสื่อสารทางวิทยุในแบบเดิม ๆ
และยังมีช่องทาง “YouTube” ให้ SUBSCRIBE “ไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้ว 5.81 หมื่นคน
ขณะที่ “ช่องทางหลัก” ในการาสื่อสารของ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคงเป็นแพลตฟอร์ม Facebook-เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ใช้สำหรับสื่อสารการแถลงข่าวสำคัญของรัฐบาล อาทิ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนข่าวสาร-นโยบายของรัฐบาล
มีคนกด “ถูกใจ” จำนวน 282,334 คน และคนกด “ติดตาม” จำนวน 356,894 คน
นอกจากนี้ยังมีบัญชีอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เป็นช่องทางการสื่อสารแบบ Exclusive เกี่ยวกับ “ภารกิจนายกฯ” ของพล.อ.ประยุทธ์โดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นทางการ-ไม่เป็นทางการ
มีคนกด “ถูกใจ” จำนวน 965,927 คน และคนกด “ติดตาม” จำนวน 1,005,359 คน
เป็นกลยุทธ์การสื่อสารของรัฐบาลเพื่อ “ปรับลุค” และเปลี่ยน “ภาพลักษณ์” ของพล.อ.ประยุทธ์ จากมาดเคร่งขรึม-สไตล์ทหารนักรบ เป็นอากัปกิริยาผ่อนคลาย-เข้าถึงได้ง่าย
ไม่นับช่องทางอวตาร-เพจกองเชียร์ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ป้อนข้อมูลเฉพาะด้าน-เฉพาะกลุ่ม และ “ทีวีของรัฐ” ในรูปแบบออฟไลน์
พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ทุกช่องทาง-ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม-ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการเมืองของ “ม็อบราษฎร” และพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า
สุดท้าย “คอนเทนต์” หรือ “เนื้อหา” แนวคิด-อุดมการณ์และค่านิยมต่างหากจะเป็นตัวแสดงผลว่า สามารถเข้าไป “แตะหัวใจ” คนรุ่นใหม่-ประชาชนส่วนใหญ่ หาใช่เครื่องมือสื่อสาร-แพลตฟอร์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชิงความได้เปรียบทางการเมือง
