ธปท.ผนึก 8 แบงก์ผุดเงินดิจิทัล “อินทนนท์”
ธปท.จับมือ 8 แบงก์ จ่อคลอด “อินทนนท์”เงินบาทดิจิทัลสกุลแรกหวังใช้เป็นต้นแบบของการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงทำธุรกิจกับต่างชาติ หลังเดินหน้าทดสอบระบบ “คริปโตเคอเรนซี” ตั้งเป้าขยายใช้ช่องทางบล็อกเชนจำหน่ายพันธบัติรัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร
ความร่วมมือในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) ชื่อ “อินทนนท์” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในยุคของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ประกาศจับมือกับร่วมกับกลุ่ม R3 ซึ่งเป็น Startup ด้าน Blockchain ชื่อดังจากเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารธนชาต, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ในวันนี้ (21 สิงหาคม)
กลายเป็นข่าวฮือฮาในโลกของสกุลเงินดิจิทัลและบล็อกเชน ที่ทำให้หลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า…สกุลเงินดิจิทัล อาจถูกแรงบีบจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมองคนในแวดวงคริปโตเคอเรนซี่ว่าเป็นพวกเพ้อเจ้อ และจ้องจะทำลายระบบการเงินของชาติ ต้องล้มเลิกความคิดนี้ได้เลย
ล่าสุด ได้มีการทดสอบการนำเทคโนโลยีประมวลผลแบบ กระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบต้นแบบของการโอนเงินระหว่างสถาบัน การเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยธนาคารกลาง (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) บนแพลตฟอร์ม Corda ซึ่งเป็นระบบ DLT ที่พัฒนาโดยบริษัท R3
สำหรับผลทดสอบที่ได้จากโครงการฯ จะนำไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางทาง การเงินของประเทศในอนาคต ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศ อาทิ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลาง ฮ่องกง หรือธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้ดำเนินการลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างการ ทดสอบนำเทคโนโลยี DLT มาใช้กับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร (scripless) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการทำธุรกรรมและการตรวจสอบข้อมูลให้สั้นลงและมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยมีธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทสำคัญ มีการชำระเงินสูงทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมนำร่องหลายแห่งแล้ว และจะทดสอบหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการทำงาน การดำเนินงาน ข้อกฎหมาย และอื่นๆ นำไปสู่การสร้างรากฐานใหม่ที่จะช่วยให้การชำระเงินระหว่างธนาคารกันเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอนาคตอาจนำไปสู่การทำธุรกรรมข้ามประเทศกับประเทศที่มีระบบทำงานเหมือนกัน” นายวิรไทย กล่าว
ทั้งนี้ ขอบเขตของโครงการอินทนนท์ระยะแรกจะครอบคลุมการออกแบบ พัฒนาและทดสอบระบบต้นแบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินผ่านการใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งจะมีกลไกการจัดการสภาพคล่องและการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญรวมอยู่ด้วย คาดว่าโครงการฯ ระยะแรกจะเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2562 ในระยะต่อไป ธปท. ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ และบริษัท R3 มีแผนร่วมกันที่จะขยายงานส่วนนี้ให้กว้างขึ้น รวมถึงการโอนเงินสำหรับลูกค้าและการโอนเงินระหว่าง ประเทศด้วย.