รับมือ…..SMSปลอมระบาด
SMS ปลอม ส่งให้กับลูกค้าของธนาคารเริ่มระบาดมากขึ้นในช่วงนี้ โดยจะเห็นได้จากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชน และธนาคารรัฐ ได้ออกมาเตือนลูกค้า เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งวิธีการหลอก จะมีลักษณะคล้ายกัน
โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารส่ง SMS ที่แนบลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเช่น เลขที่บัตรเครดิต, รหัสบัตร ATM, Password และเมื่อลูกค้าหลงเชื่อ ก็จะให้ส่งข้อมูลส่วนตัว เพื่อนำไปสมัครใช้บริการแอพพลิเคชั่น mobile banking และมิจฉาชีพจะโอนเงินออกจากในบัญชีทันที
ขณะที่ธนาคารก็ย้ำมาโดยตลอดว่า ลูกค้าอย่าหลงเชื่อคลิกลิงก์หรือกรอกข้อมูลใด ๆ เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายส่งลิงก์เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัว และหากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับบริการขอให้ติดต่อสาขาของธนาคารโดยตรงทันที และกรณีได้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับมิจฉาชีพไปแล้ว ขอให้รีบติดต่อสาขาของธนาคารแต่ละแห่งทันที
แม้ความเสียหายของลูกค้าแต่ละรายจะไม่สูงมาก แต่จำนวนลูกค้าที่ถูกหลอกถือว่ามีจำนวนไม่น้อย เห็นได้จากล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกหนังสือแจ้งว่า มีมิจฉาชีพได้ใช้ช่องทาง SMS หลอกลวงให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งรหัส OTP แล้วนำไปเพิ่ม device เพื่อโอนเงินออกจากบัญชีลูกค้า
ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้ามากกว่า 200 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 30 ล้านบาทนั้น ธนาคารฯได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า มิจฉาชีพได้นำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อ และไปทำการเพิ่ม device ในการใช้งาน และธนาคารฯจะขอร่วมรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการชดเชยค่าเสียหายให้กับลูกค้าผู้ถูกหลอกจากมิจฉาชีพในกรณีดังกล่าว เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าธนาคารฯ จะดูแลและปกป้องท่านตามที่ท่านให้ความไว้วางใจธนาคารฯ เสมอมา
ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น Rootan ขณะนี้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้เปิดใช้ในส่วนของระบบ IOS แล้ว และในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ประชาชนที่ใช้สมาร์ทโฟน ในระบบ Android จะสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Rootan เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแจ้งเบาะแสได้
พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI ) แจ้งว่าทันทีที่ได้เปิดใช้แอพพลิเคชั่น Rootan ในระบบ IOS ทางดีเอสไอได้เบาะแสจากประชาชนผ่านแอพฯ ดังกล่าว ว่ามีประชาชนจำนวนมาก ได้รับข้อความ SMS ที่อ้างว่าส่งมาจากธนาคารที่ประชาชนมีบัญชีอยู่ โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด อาทิ ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือน ปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งคนร้ายจะนำข้อมูลดังกล่าว ไปทำการสมัครใช้บริการแอพพลิเคชั่น Mobile Banking แล้วโอนเงินของท่านออกจากบัญชีทันที ซึ่งในเบื้องต้นดีเอสไอได้สืบทราบข้อมูล พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน ถึงปัจจุบัน มีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจและเกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงแจ้งเตือนให้ประชาชน ให้ระมัดระวังและอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาดหากได้รับข้อความที่แอบอ้างว่าเป็นธนาคาร แล้วให้ส่งข้อมูลส่วนตัว ห้ามคลิกหรือส่งข้อมูลให้ไป หากมีข้อสงสัย ขอให้ทำการตรวจสอบกับธนาคารเจ้าของบัญชีโดยตรง
หวังว่า ภายหลังจากที่ DSI จริงจังกับการหลอกลวงประชาชน โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Rootan น่าจะทำให้การทำงานของมิจฉาชีพ ยากลำบากมากขึ้น แต่การจะรอดพ้นจากการหลอกลวงได้ดีที่สุดเราต้องมีสติ พิจารณาอย่างรอบคอบ