ประเทศในอียูต้องเห็นชอบดีลการค้ากับสิงคโปร์
ศาลสูงของสหภาพยุโรปตัดสินว่า ข้อตกลงการค้าอียู-สิงคโปร์จะไม่มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์จนกว่าสภาของ 28 ประเทศสมาชิกทั้งหมดในสหภาพยุโรปจะมีมติอนุมัติ
ความเห็นทางกฎหมายของศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) ทำให้กระบวนการของการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูซึ่งยังในระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องเบร็กซิทต้องล่าช้าออกไปอีก
โดยคณะกรรมาธิการยุโรปทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในนามของอียู แต่ทาง ECJ กล่าวว่า ข้อตกลงอียู-สิงคโปร์ ซึ่งได้ข้อสรุปในปี 2557 จะต้องเป็นที่พึงพอใจของประเทศสมาชิกอียูทั้งหมด
ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้ากับสิงคโปร์จะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างเหมือนข้อตกลงการค้าอียู-แคนาดา (Ceta) ซึ่งเกือบจะถูกล้มดีลจากการคัดค้านของแคว้น Wallonia ซึ่งเป็นพื้นที่ในเบลเยียมที่พูดภาษาฝรั่งเศส
จากเงื่อนไขกำหนดเวลา Ceta จะมีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ในไม่กี่สัปดาห์นี้ แต่ยังคงขาดความเห็นชอบจาก 38 สภาในอียู ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
สหราชอาณาจักรเองต้องเจรจาในเงื่อนไขการออกจากอียูให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมี.ค. 2562 แต่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรยังคงต้องการที่จะเร่งให้กระบวนการเร็วขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมข้อตกลงการค้าใหม่กับอียู
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการกล่าวว่า เงื่อนไขการถอนตัวออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงประเด็นงบประมาณที่ยังมีอุปสรรค ต้องผ่านการเห็นชอบก่อนที่จะมีการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักร
ทางคณะกรรมาธิการมองว่า ดีลกับสิงคโปร์เป็นรูปแบบที่เป็นไปได้สำหรับการเจรจาทางการค้าในอนาคต ซึ่งอาจเป็นการเลี่ยงขั้นตอนการอนุมัติจากสภา และลดความเสี่ยงที่จะถูกโหวตออกเสียงคัดค้านจากอียูทั้งหมด
หากคณะกรรมาธิการมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการทำข้อตกลงทางการค้า กระบวนการทั้งหมดก็จะเสร็จสิ้นเร็วขึ้น แตทางสภา ซึ่งเป็นสถาบันของอียูที่รวมตัวแทนรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อตัดสินใจนโยบายร่วมกันค้านว่า สภาของแต่ละประเทศควรมีสิทธิมีเสียงมากกว่า
ที่ผ่านมา มีการประท้วงต่อต้าน Ceta และที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคือข้อตกลงการค้าอียู – สหรัฐฯ ที่เรียกว่า TTIP
โดยหลักการ ‘ America First ’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทำให้ดีลของ TTIP ดูจะเลือนลางห่างไกลออกไปทุกที วิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551 ทำให้นโยบายกีดกันทางการค้ามีผลเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป.