วัคซีนของ ‘แอสตราเซเนกา’ จ่อทดสอบใหม่
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มขึ้นจากการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนหลังบรรดาผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลของผลการทดสอบ
“ มักมีปัญหาตลอดในการประกาศผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากการแถลงข่าว และประเด็นคือคุณไม่มีข้อมูลทั้งหมดในการแถลง และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง” เซอร์จอห์น เบลล์ จากม.ออกซ์ฟอร์ดกล่าวในการให้สัมภาษณ์
หุ้นของบริษัทแอสตราเซเนกาดิ่งลงในสัปดาห์นี้หลังจากบริษัทประกาศผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. โดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ระบุว่า วัคซีน (ซึ่งร่วมผลิตกับม.ออกซ์ฟอร์ด) มีประสิทธิภาพ 70% หลังจากรวบรวมผลจากการทดลองทั้งสองครั้ง
ในการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเล็กกว่า ที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเกิดความผิดพลาด ได้รับวัคซีนโดสที่ 2 จำนวนน้อยกว่ามาตรฐาน หลังได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ขณะที่อีกกลุ่มของการทดลองที่มีขนาดใหญ่กว่า อาสาสมัครได้รับวัคซีนสองโดสครบ และพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 90% ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณน้อยกว่า ขณะที่กลุ่มใหญ่กว่าที่ได้รับวัคซีนครบ กลับมีประสิทธิภาพเพียง 62%
บรรดาผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ รวมทั้ง ผอ.Operation Warp Speed ของทำเนียบขาวระบุว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับอายุที่แตกต่างของอาสาสมัครสองกลุ่ม ขณะที่ปาสกัล โซริออต ซีอีโอของแอสตราเซเนกา กล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ว่า บริษัทมีแนวโน้มจะเริ่มทำการศึกษาครั้งใหม่เพื่อทดสอบการใช้โดสวัคซีนที่น้อยลงกว่าเดิม
“ จะมีการตีพิมพ์ข้อมูลทั้งหมดในวารสารการแพทย์ เพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด การได้รับข้อมูลเล็กๆน้อยๆ ไม่ช่วยในการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นในการทดลอง” เบลล์กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ย.
รัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆของรัฐบาลกล่าวสนับสนุนวัคซีนของแอสตราเซเนกา โดยชี้ว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยา หรือ อย.ซึ่งมีข้อมูลมากกว่าจากการทดลองวัคซีนระยะสุดท้ายจะเป็นผู้ตัดสินใจ สหราชอาณาจักรยื่นขออนุมัติจากอย.ในวันที่ 27 พ.ย.เพื่อขอใช้งานวัคซีน ซึ่งจะทำให้มีการกระจายวัคซีนในประเทศได้ก่อนสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการอนุมัติอาจใช้เวลามากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่เบลล์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เขาคาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรอาจมีวัคซีนใช้อย่างกว้างขวางในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
เคท โอไบรเอน ผอ.ฝ่ายภูมิคุ้มกัน วัคซีนและชีวภาพของ WHO เห็นพ้องกับเบลล์ โดยระบุว่า “มีข้อมูลจำกัดในการแถลงข่าว” และจำเป็นต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ รวมถึงในประเด็นที่ว่าวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีแค่ไหน
ดร.โซเมีย สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO ระบุว่า ตัวเลขการทดสอบวัคซีนของแอสตราเซเนกา “ ยังคงน้อยเกินไปที่จะมีผลสรุปที่แน่ชัด” มีอาสาสมัครผู้เข้าร่วมการทดสอบน้อยกว่า 3,000 รายในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณน้อยกว่า ขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดสอยู่ในกลุ่มที่มีจำนวนกว่า 8,000 ราย
“ จำเป็นต้องมีการทดสอบใหม่ หากเราต้องการทราบประสิทธิภาพของวัคซีนที่ดีกว่า เมื่อใช้ในปริมาณน้อยลง” ดร.สวามินาธานระบุ