ญี่ปุ่น-จีนร่วมมือหนุนเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นและจีนเห็นพ้องที่จะหนุนการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ในการประชุมทวิภาคีด้านการเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เนื่องจากจุดยืนด้านการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความตึงเครียดจากเกาหลีเหนือที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเอเชีย
“ เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในญี่ปุ่นและจีน และความร่วมมือของเราทางด้านการเงิน ” ทาโร อาโซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นทาโร อาโซกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังอาวุโสและผู้บริหารธนาคารกลางเข้าร่วมด้วย
“ เป็นเรื่องสำคัญที่เราได้ยืนยันอีกครั้งถึงความจำเป็นสำหรับความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะที่แบ่งปันประสบการณ์ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและโครงสร้าง ” เขาเสริม
โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะทำการวิจัยร่วมกันในประเด็นผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด และรายงานผลในการพูดคุยครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในปีหน้าที่จีน
พวกเขาไม่ได้พูดถึงอีกหลายประเด็นเช่น ค่าเงิน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากโครงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และจรวดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในระหว่างการประชุม ซึ่งมีขึ้นนอกรอบของการประชุมประจำปีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนยังคงมีบาดแผลในอดีตจากการเข้ายึดครองจีนของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ผู้นำของทั้งสองประเทศจะพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ผ่านการพูดคุยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลว่า ธนาคารแห่งใหม่ของจีนคือ ธนาคารลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียจะบดบังรัศมีธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลัก
ไม่นานก่อนการประชุมทวิภาคีเมื่อวันที่ 6 พ.ค. รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเสี่ยวจีของจีนหวังว่า ทาง ADB จะช่วยหนุนความสัมพันธ์กับจีนในนโยบาย One Belt One Road ซึ่งเป็นนโยบายริเริ่มในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและจีนเห็นพ้องกันในความจำเป็นที่จะยึดมั่นในแนวทางการค้าเสรี ซึ่งทั้งสองประเทศมองว่า เป็นสิ่งสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าเป็นหลัก
ในการประชุมไตรภาคีด้านการเงินของญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ทุกฝ่ายตกลงที่จะต่อต้านการกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ เป็นการแสดงจุดยืนที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจจี 20 ที่มีต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ
จีนกำหนดบทบาทตัวเองเป็นผู้สนับสนุนการค้าเสรีหลังจากผู้นำสหรัฐฯ กำหนดใช้นโยบายที่ว่า ผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อนและถอนตัวจากข้อตกลงการค้านานาชาติ
ในขณะที่ญี่ปุ่นมีจุดยืนที่ผ่อนคลายกว่ากับท่าทีขึงขังของทางวอชิงตันที่ว่า การค้าต้องไม่เพียงเป็นไปอย่างเสรีเท่านั้น แต่ต้องยุติธรรมด้วย.