เศรษฐีจีนรวมตัวประชุมเศรษฐกิจ
ใจกลางประเทศจีน ในเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน กำลังเป็นสถานที่จัดประชุมของบรรดาผู้นำผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่สุดของจีน
ผู้นำเหล่านี้ ไม่ใช่คนดังในแวดวงการเมืองที่บริหารประเทศจีนมานานหลายทศวรรษ แต่เป็นผู้นำในระดับมหาเศรษฐีจากภาคเอกชน
โดยตัวเมืองเจิ้งโจว ซึ่งอยู่ใกล้กับทุ่งข้าวโพดและข้าวสาลี ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีจากสมาคมผู้ประกอบการจีน โดยมีมหาเศรษฐีจีนที่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ทั้งหมด 55 คนในอีกแง่หนึ่งก็คือผู้ที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในจีน 55 คนแรกของประเทศ
แตกต่างกับเศรษฐีจากประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ ที่มีความร่ำรวยจากการถือครองที่ดินในมือมานาน เกือบทั้งหมดของผู้ประกอบการชาวจีนสร้างตัวมาด้วยความยากลำบาก และพวกเขาไม่เพียงเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในวงการเทคโนโลยี พลังงาน การเงินและค้าปลีก หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาเป็นโฉมหน้าของเศรษฐกิจรุ่นใหม่ของจีน
ดูเหมือนว่า พวกเขาประสบความสำเร็จ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจีนเปิดประเทศและวางรากฐานโครงสร้างไว้มานานกว่า 35 ปี
แต่ที่จริงแล้ว แม้แต่ก่อนที่รัฐบาลจีนจะได้ประโยชน์จากบริษัทเอกชน ธุรกิจหลายแสนแห่งก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีจำนวนไม่มากนักที่ได้เติบโตกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ปัจจุบัน หัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่บริษัทเริ่มต้นธุรกิจจากการนำเข้าอุปกรณ์จากชุมสายโทรศัพท์ในฮ่องกง ขณะที่เลอโนโว ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มต้นจากการขายโทรทัศน์นำเข้าในจีน และบริษัทจี๋ลี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เริ่มต้นจากการขายอะไหล่ของตู้เย็น
โดยธุรกิจที่เอ่ยถึงเหล่านี้เป็นผู้ประกอบการในยุคแรกของจีน ยุคที่ 2 เกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีก่อน และผู้ประกอบการยุคที่ 3 คืออาลีบาบาของแจ็ค หม่า และเทนเซ็นต์ของ โพนี่ หม่า ( นามสกุลเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติกันแต่อย่างใด) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดึงดูดความสนใจจากประเทศตะวันตกมากที่สุด และจีนได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดเทคโนโลยีระดับโลกไปแล้ว
ภาคเอกชนของจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน โดยผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นักการเมืองเป็นผู้ขับเคลื่อนในการปรับสมดุลโครงสร้างจากที่เคยพึ่งพาแต่ภาคการผลิตและส่งออกมาเป็นภาคบริการและการบริโภค
หนึ่งในคำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของจีน คือผู้ประกอบการและรัฐวิสาหกิจของจีนควรเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด จนถึงตอนนี้ กรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จากอาลีบาบา ที่มีมูลค่าในระดับโลก โดยไม่มีการกำหนดทิศทางและแทรกแซงจากภาครัฐ
แต่รัฐวิสาหกิจของจีนมีสัดส่วนความสำคัญเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน เมื่อรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เริ่มบดบังความสามารถในการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน ก็ดูจะมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาครัฐยังไม่กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเงินอย่างเป็นทางการให้กับภาคเอกชน แต่ในความเป็นจริง ขาวจีนหลายล้านคนสามารถจ่ายค่าสาธารณูปโภค ซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ สั่งอาหารเย็นมาส่งที่บ้าน และแม้แต่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชั่นวีแชทได้แล้ว.