เศรษฐกิจบราซิลโตสุดในรอบ 7 ปี
เศรษฐกิจของประเทศบราซิลส่งสัญญาณให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นมานานถึง 2 ปี และนักลงทุนต่างชาติต่างมุ่งเข้าไปคว้าโอกาสที่ดีในตลาดหุ้นของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้
กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกาอย่างบราซิลขยายตัวเติบโตสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา อ้างอิงจากตัวชี้วัดของธนาคารกลางแห่งบราซิล โดยทางธนาคารเปิดเผยว่า ดัชนี IBC-Br ปรับเพิ่มขึ้น 1.31% ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากฟื้นตัวขึ้นมาถึง 0.62% ในเดือนม.ค.ของปี 2560 นี้
“ มีแนวโน้มว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้ของบราซิลจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีความหมายมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เฮนริก เมเรลเลส กล่าวในเมืองบราซิลเลียเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแต่หน่วยงานของรัฐบาลบราซิลเท่านั้นที่ตั้งความหวังไว้สูงกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจบราซิลในปีนี้
นักลงทุนต่างชาติต่างก็ถูกดึงดูดให้กระโจนเข้ามาร่วมลงทุนในบราซิลด้วยเช่นกัน ทำให้ iShares MSCI Brazil Capped ETF ( EWZ) พุ่งขึ้นมากกว่า 11% ในปีนี้ แซงหน้าดัชนี S&P 500 โดย ETF ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ในวันที่ 17 เม.ย. และปรับลงมาอยู่ในทิศทางที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ 15 มี.ค.เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ค่าเงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.5% และค่าเงินยังพุ่งสูงขึ้นอีก 1.3% เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา
ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในบราซิลเริ่มต้นในปี 2558 เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและแร่ธาตุ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักมีราคาตกต่ำลง ขณะที่รัฐวิสาหกิจน้ำมันของบราซิลอย่างปิโตรบาส มีข่าวฉาวเรื่องการทุจริตฉ้อโกงที่พัวพันกับนักการเมืองจำนวนมาก ทำให้การรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ การเมืองยังอ่อนแอไร้เสถียรภาพ มีการถอดถอนประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในปิโตรบาสในปีที่แล้ว และมีรัฐมนตรีต้องลาออกอีกหลายคน
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปีที่แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของบราซิลให้ดีขึ้นอย่างที่คาดการณ์ ธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากโอลิมปิกมีเพียงบริการรถเช่า และบริการชำระเงินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวขึ้นมาสูงสุดของเศรษฐกิจบราซิลเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญานให้เห็นถึงการชะลอตัวลง
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดต่ำลง 0.3% ในเดือนมี.ค. ทำให้เป็นการปรับลดลงสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2558 เป็นต้นมา และกระทรวงพาณิชย์ยังรายงานว่า ตัวเลขค้าปลีกลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้.