ตลาดค้ามนุษย์ในลิเบีย
ชาวแอฟริกันที่พยายามจะอพยพไปยุโรปจะถูกขายโดยผู้ที่จับกุมตัวพวกเขาในตลาดทาสของประเทศลิเบีย อ้างอิงจากการรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ( IOM)
เหยื่อหลายคนให้ข้อมูลกับ IOM ว่าหลังจากถูกกักขังโดยพ่อค้ามนุษย์ หรือ กลุ่มติดอาวุธ พวกเขาจะถูกพาไปขายที่จตุรัสของเมือง หรือที่จอดรถ
โดยผู้อพยพที่มีทักษะเช่น การทาสี หรือปูกระเบื้องได้จะมีราคาสูงกว่าผู้อพยพทั่วไป ผู้อำนวยการของ IOM ในลิเบียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี
ทั้งนี้ ประเทศลิเบียเข้าสู่ภาวะที่สับสนวุ่นวายมาตั้งแต่ปี 2511 หลังจากมีการชุมนุมประท้วงเพื่อโค่นล้มและขับไล่มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ
ชายชาวแอฟริกันหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าจะถูกจับไปอยู่ในตลาดที่เรียกได้ว่าเป็นตลาดค้าทาส อ้างอิงจากรายงานของ IOM
ผู้อพยพชายชาวเซเนกัล ซึ่งไม่ได้ออกนามเพื่อปกปิดความเป็นส่วนตัวของเขา กล่าวว่า เขาถูกขายในตลาดในลักษณะเดียวกันนี้ในเมืองซาบา ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของลิเบีย ก่อนที่จะถูกนำไปที่คุกที่สร้างขึ้นชั่วคราว ซึ่งผู้อพยพมากกว่า 100 คนต้องถูกกักขังอยู่ร่วมกัน
พยานระบุว่า พวกผู้หญิงจะถูกขายให้กับลูกค้าชาวลิเบียเป็นการส่วนตัวและถูกนำไปที่บ้านของผู้ซื้อที่ซึ่งพวกเธอจะถูกบังคับเป็นทาสบำเรอกาม
โอธมัน เบลเดสิ หัวหน้าฝ่ายภารกิจของ IOM ประจำลิเบียกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ผู้ที่ถูกขายเป็นทาส พบว่าตัวเองถูกตั้งราคาจากทักษะที่มีอยู่
“พวกเขาไม่มีเงิน และครอบครัวไม่สามารถจ่ายค่าไถ่ได้ จึงถูกขายในจำนวนเงินไม่สูง โดยราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่มี ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทาสี หรือปูกระเบื้องได้ หรือมีความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใด ราคาก็จะสูงขึ้น”
ทั้งนี้ พนักงานของ IOM ในประเทศไนจีเรียกล่าวว่า พวกเขายืนยันได้ถึงการประมูลค้ามนุษย์ในลิเบีย ที่ซึ่งมีผู้อพยพลี้ภัยชาติอื่นๆหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
“ พวกเขายืนยันถึงความเสี่ยงที่จะถูกขายเป็นทาสในจตุรัสเมือง หรือในที่จอดรถในเมืองซาบา จากคนขับรถที่พาพวกเขามา หรือคนในพื้นที่ซึ่งทำธุรกิจกับผู้อพยพ ด้วยการหางานประจำวันในเมืองให้โดยเฉพาะงานก่อสร้าง หลังจากนั้น แทนที่จะจ่ายค่าจ้างให้พวกเขา พวกนี้กลับขายเหยื่อให้กับผู้ซื้อรายใหม่”
“ผู้อพยพจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไนจีเรีย กานา และแกมเบียถูกบังคับให้ทำงานเป็นยามเฝ้าบ้านที่กักกันเพื่อเรียกค่าไถ่ หรือในตลาดเอง” พนักงานของ IOM เสริม
ทั้งนี้ ทางองค์การเรียกภาวะฉุกเฉินของตลาดเหล่านี้ว่า เป็นแนวโน้มใหม่ของสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับผู้อพยพในลิเบีย.