SME เกินครึ่งในยุโรปกลัวไม่รอด

ลอนดอน – เมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีการเผยแพร่ผลสำรวจของแมคคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ระบุว่า กว่าครึ่งของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีส่วนในการจ้างงานมากถึง 2 ใน 3 ในยุโรปมีความกลัวว่าธุรกิจของตัวเองจะไปไม่รอดในอีก 12 เดือนหน้า
มีการจัดทำแบบสำรวจในเดือนส.ค. ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาดมากขึ้นอีกทั่วยุโรปที่บีบให้รัฐบาลต้องมีมาตรการคุมเข้มมากขึ้นเพื่อควบคุมการทำกิจกรรมต่างๆ และเตรียมประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่
ผลการสำรวจของแมคคินซีย์ ซึ่งจัดทำกับบริษัทกว่า 2,200 แห่งใน 5 ประเทศคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และอังกฤษ พบว่า 55% คาดว่าจะปิดธุรกิจภายในเดือนก.ย.ปีหน้า หากรายได้ยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน
และในสถานการณ์ปัจจุบัน มี 1 ใน 10 ของบริษัทขนาดเล็กและกลางคาดการณ์ว่าจะยื่นขอล้มละลายภายใน 6 เดือน
“ นี่เป็นภาระอันใหญ่หลวงของภาคการเงิน” Zdravko Mladenov ผู้ร่วมเขียนรายงานระบุว่า เพียงแค่หนึ่งในผลกระทบของเรื่องนี้ อาจทำให้คนตกงานพุ่งขึ้นและขัดขวางการลงทุนในประเทศ
โพลนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์เดือนก.ย.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปจะเติบโตเพียง 5.5% ในปีหน้า หลังจากดิ่งลงประมาณ 8% ในปีนี้ แต่เตือนว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่น เพราะมีความเสี่ยงที่ไวรัสโคโรนาจะแพร่ระบาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือ SME จะมีพนักงานไม่เกิน 250 คน หรือน้อยกว่า
ในยุโรป SME มีการจ้างงานกว่า 90 ล้านคน แต่ขนาดธุรกิจเล็กทำให้มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง ตัวอย่างเช่น ในสเปน 83% ของ 85,000 ธุรกิจทรุดตัว ตั้งแต่เดือนก.พ. มีการจ้างงานน้อยกว่า 5 คน
มาตรการช่วยเหลือของรัฐทั่วยุโรป มีตั้งแต่การเลื่อนการฟ้องล้มละลายไปจนถึงเลื่อนกำหนดชำระหนี้ จนถึงตอนนี้ทำให้ธูรกิจนับพันแห่งไม่ล่ม แต่เมื่อมาตรการเหล่านั้นสิ้นสุดลง ธนาคาร Bundersbank ในเยอรมนีและ Bank of England อยู่ในกลุ่มที่ออกมาเตือนว่ามีลูกหนี้สิ้นเนื้อประดาตัวมากขึ้น
“ รัฐบาลของทุกประเทศจำเป็นต้องทำอย่างดีที่สุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และบรรเทาความเสียหายของเศรษฐกิจ และไม่หยุดให้การสนับสนุนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดซ้ำๆ ของวิกฤตการเงินทั่วโลก” IMF ระบุในบล็อกสัปดาห์นี้
“ สำหรับบริษัท นโยบายตอนนี้ จำเป็นต้องมีมากกว่าการสนับสนุนสภาพคล่อง และทำให้แน่ใจว่า บริษัทล้มละลาย แต่ยังรอดอยู่ได้ ยังคงมีอยู่ในระบบธุรกิจ” IMF เสริม โดยชี้ถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ หรือทำให้บริษัทที่อยู่รอดมีรายได้