รัฐบาล ‘ทรัมป์’ ฟ้องกูเกิลผูกขาดการค้า
วอชิงตัน – เมื่อวันที่ 20 ต.ค. รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยื่นฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่กูเกิล นับเป็นคดีการผูกขาดทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ
ในคำฟ้อง กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯระบุว่า กูเกิลยับยั้งการแข่งขันทางการค้าเพื่อคงอิทธิพลของตัวเองในตลาดสำหรับการเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ และเสิร์ชหาโฆษณา
โดย 11 รัฐ ทั้งรัฐอาคันซอ ฟลอริดา จอร์เจีย อินเดียนา เคนทักกี หลุยเซียนา มิสซิสซิปปี มิสซูรี มอนทานา เซาธ์แคโรไลนา และเท็กซัส เป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องครั้งนี้ด้วย อ้างอิงจากคำฟ้อง
คำฟ้องพุ่งเป้าที่การกระทำซึ่งกี่ยวข้องกับกูเกิลหลายกรณี โดยรวมแล้วคือ การทำลายระบบการแข่งขันทางการค้า และสกัดไม่ให้คู่แข่งเข้าถึงผู้ใช้งานส่วนใหญ่
ในคำฟ้องระบุว่า กูเกิลจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อย่าง แอปเปิล LG โมโตโรลา และซัมซุง รวมถึงผู้พัฒนาเบราเซอร์อย่างโมซิลลา และ โอเปรา จัดให้กูเกิลเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นหลัก และในหลายกรณีที่กีดกันไม่ให้มีการทำข้อตกลงกับคู่แข่งของกูเกิล ซึ่งเป็นผลทำให้ “ กูเกิลควบคุมช่องทางการเสิร์ชหาข้อมูลประมาณ 80% ของการเสิร์ชหาข้อมูลทั้งหมดในสหรัฐฯ”
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯยังไม่ให้ข้อมูลในรายละเอียดกับผู้สื่อข่าวในวันที่ 20 ต.ค.
เจฟฟรีย์ โรเซน รองอัยการสูงสุดเตือนว่า หากกระทรวงไม่ฟ้องตอนนี้ “ เราจะสูญเสียนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่ คนอเมริกันอาจไม่ได้เห็นบริษัทใหม่ๆ ที่จะเป็นเหมือนกูเกิลอีก”
การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้องกูเกิล เป็นขั้นตอนต่อเนื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯจัดการกับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค เนื่องจากทางวอชิงตันไม่พอใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลังมีหลักฐานว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกต่างชาติใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 ส่งผลทำให้ซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องเข้าให้การกับสภาคองเกรส และต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบในหัวข้อการแสดงความเห็นทางการเมือง คอนเทนต์ที่สร้างความเกลียดชัง ข้อมูลเท็จ ธุรกิจขนาดเล็ก สื่อท้องถิ่นและการแข่งขัน
คดีที่เกิดชึ้นอาจสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจโฆษณาของกูเกิล ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทสูงถึง 134,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว คิดเป็น 84% ของธุรกิจทั้งหมดของกูเกิล
แม้ทางกระทรวงจะนำกูเกิลขึ้นสู่ศาลในประเด็นความกังวลเรื่องการผูกขาดทางการค้า แต่บริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมไฮเทคก็อาจถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน โดย Federal Trade Commission ดำเนินการสอบสวนเฟซบุ๊กมานานกว่าหนึ่งปี และคาดการณ์ว่าถึงที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยการที่เฟซบุ๊กถูกดำเนินคดี
“ คดีผูกขาดทางการค้าที่สำคัญที่สุดก่อนคดีนี้คือคดีของรัฐบาลสหรัฐฯ กับไมโครซอฟต์ในปี 2541” วิลเลียม โควาซิก อดีตประธานของ Federal Trade Commission กล่าวก่อนมีการประกาศคดีนี้
ในคดีนั้น รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวหาไมโครซอฟต์ว่า ละเมิดกฎหมายด้วยการใส่ Internet Explorer กับทุกวินโดว์ เป็นการกีดกันคู่แข่งรายอื่น หลังจากต่อสู้กันนานหลายปี รัฐบาลและไมโครซอฟต์บรรลุข้อตกลงในการจำกัดธุรกิจซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์ลง
ผู้เชี่ยวชาญให้เครดิตว่า จากผลของคดีนี้ทำให้เป็นการปูทางให้มีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆในสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตของกูเกิลด้วย
สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ เขามักจะวิจารณ์ซ้ำๆ และกล่าวหาทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ว่ามีระบบเซ็นเซอร์ความเห็นที่ออกแนวอนุรักษ์นิยมเกินไป ซึ่งเป็นคำอ้างที่บริษัททั้งหลายปฏิเสธและผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไม่มีหลักฐานรับรอง
ในปีที่แล้ว ทรัมป์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “ เราควรฟ้องกูเกิลและเฟซบุ๊กและทุกบริษัท บางทีเราอาจจะฟ้อง โอเคไหม? ”
ทั้งนี้ กูเกิลยังถูกเรียกค่าปรับในคดีผูกขาดทางการค้าจำนวนสูงถึง 2,400 ล้านยูโรจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ในยุโรป เป็นบทลงโทษที่บริษัทกำลังดำเนินการโต้แย้งอยู่